สวทช. จัดอบรมพัฒนาครู ในโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย เครือข่าย สวท

09 Nov 2017
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยฝ่ายวิชาการและกิจกรรมพัฒนาเยาวชนวิทยาศาสตร์ จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาครู "โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย เครือข่าย สวทช." หลังการติดตามประเมินผลการใช้ชุดสื่อความลับของพืช ซึ่งเป็นหลักสูตรแนวทางการจัดกิจกรรมและประเมินทักษะการสืบเสาะหาความรู้สำหรับเด็กปฐมวัย แก่คณะครูกว่า 40 ท่านจาก 18 โรงเรียนในเครือข่ายจังหวัดปทุมธานี โดยมีนางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิชาการและกิจกรรมพัฒนาเยาวชนวิทยาศาสตร์ สวทช. ให้การต้อนรับ
สวทช. จัดอบรมพัฒนาครู ในโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย เครือข่าย สวท

นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิชาการและกิจกรรมพัฒนาเยาวชนวิทยาศาสตร์ สวทช. กล่าวว่า กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการเริ่มต้นด้วยการนำเสนอผลการติดตามประเมินการใช้ชุดสื่อความลับของพืช ที่พัฒนาขึ้นโดยฝ่ายวิชาการและกิจกรรมพัฒนาเยาวชนวิทยาศาสตร์ (AYS) สวทช. เพื่อให้คณะครูและผู้ประเมินได้ร่วมกันพูดคุยและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงผลของการนำชุดสื่อการเรียนรู้ดังกล่าวไปใช้ในชั้นเรียนเพื่อเสริมทักษะกระบวนการสืบเสาะให้กับนักเรียนระดับปฐมวัยหรือน้องๆ ในระดับอนุบาล เพื่อให้คุณครูสามารถนำไปประยุกต์ใช้จัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป จากนั้นเป็นการนำเสนอตัวอย่างรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยโดยใช้กิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ ด้วยกระบวนการสืบเสาะหาความรู้จากตัวแทนโรงเรียน 3 แห่งในเขตจังหวัดปทุมธานี ได้แก่ 1) โรงเรียนบีคอนเฮาส์ แย้มสอาดรังสิต กับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยนำกิจกรรมวิทยาศาสตร์ไปแทรกในหน่วยการเรียนรู้หลัก 2) โรงเรียนอนุบาลดวงตะวัน กับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ในรูปแบบการจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ที่เพิ่มเติมจากหน่วยการเรียนรู้ และ 3) โรงเรียนเฟื่องฟ้าวิทยา กับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบโครงการที่ต่อยอดเป็นโครงงานวิทยาศาสตร์

ขณะที่ภาคบ่าย คณะครูผู้เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการทุกท่าน ได้ร่วมกันระดมสมองเพื่อค้นหาแนวทางการใช้คำถามและการจัดกิจกรรมที่จะสามารถนำเข้าสู่คำถามหลักและกระบวนการสืบเสาะหาความรู้เพื่อตอบคำถามหลักและต่อยอดสู่คำถามใหม่ เช่น การให้ความสำคัญกับคำถามแต่ละประเภทและวิธีการถามคำถามที่ดี ไม่ว่าจะเป็นคำถามที่นำไปสู่การสังเกต การอธิบาย การทำนายและสร้างสมมติฐาน และการออกแบบการทดลองและควบคุมตัวแปร เป็นต้น ซึ่งการซักถามด้วยคำถามชนิดต่างๆ จะกระตุ้นและฝึกให้นักเรียนได้ฝึกทักษะกระบวนการสืบเสาะทางวิทยาศาสตร์ได้ ต่อด้วยการร่วมกันฝึกทักษะและพัฒนากิจกรรมทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย ด้านการสังเกต การใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ และการควบคุมตัวแปร หรือปัจจัยในการทดลอง อาทิ ทักษะการใช้แว่นขยาย ทักษะการใช้หลอดหยด ซึ่งจะได้ฝึกทักษะการสังเกตด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ด้าน เป็นต้น ตลอดจนกิจกรรมแนะนำแนวทางการบันทึกผลการทดลอง/ผลการสำรวจตรวจสอบ และการกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ของเด็กปฐมวัย เพื่อให้คุณครูทุกท่านได้นำไปปรับใช้กับนักเรียนตัวน้อยๆ ในโรงเรียนต่อไป

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ "บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย" สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซต์ http://www.littlescientistshouse.com/

HTML::image( HTML::image(