ผศ.รท.ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต ทันตแพทย์เฉพาะทางทันตกรรมรากเทียม ศูนย์ ทันตกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวถึง การทำทันตกรรมรากเทียม (Dental Implant) คือวิธีการทำรากฟันใหม่ เพื่อทดแทนฟันและรากฟันธรรมชาติเดิมที่สูญเสียไป และเป็นการเลียนแบบฟันธรรมชาติได้อย่างสมจริง ทั้งในด้านของความสวยงามและการใช้งานอย่างการบดเคี้ยวอาหาร เป็นต้น ขณะเดียวกันรากเทียมคือ โลหะไทเทเนียม ที่มีลักษณะเป็นเกลียวรูปทรงกระบอกเล็กๆ ซึ่งจะถูกนำมาฝังลงในตำแหน่งของขากรรไกรภายใต้เหงือก ให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม โดยขั้นตอนนี้ปกติใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือน เพื่อรอให้กระดูกของคนไข้มาเกาะยึดกับรากฟันเทียมให้แน่นหนาก่อน ทันตแพทย์จึงจะนำฟันใหม่มาให้ยึดติดกับราก การทำรากฟันเทียมนั้นสามารถทำได้กับทุกคนที่ต้องสูญเสียฟันแท้ไป และไม่จำกัดอายุ แต่ทั้งนี้ต้องดูในบางกรณีที่คนไข้บางรายมีปัญหาด้านสุขภาพ หรืออาจมีกระดูกขากรรไกรไม่เพียงพอ โดยทันตแพทย์จะดำเนินการตรวจทางทันตกรรมอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนที่จะทำรากฟันเทียม ความคงทนของรากฟันเทียมนั้นสามารถอยู่ได้นานหลายสิบปี หากมีการดูแลสุขภาพช่องปากที่ดี และมีการตรวจสุขภาพปากและฟันอย่างสม่ำเสมอ รากฟันเทียมก็สามารถที่จะอยู่คงทนได้ตลอดชีวิต
การทำรากฟันเทียมนั้นมีกระบวนการหลายขั้นตอน ตั้งแต่การตรวจสภาพของช่องปาก การถ่ายภาพรังสี การวางแผนการรักษา การฝังรากฟันเทียมไปจนถึงการทำครอบฟันหรือฟันปลอมบนรากฟันเทียม การทำรากฟันเทียมให้ใช้งานได้ดีมีประสิทธิภาพต้องเริ่มจากการวางแผนการรักษาที่ดี ในตำแหน่งที่เหมาะสม ปัจจุบันเทคโนโลยีทางภาพถ่ายรังสีแบบสามมิติ (Cone-beam CT) และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัย ทำให้การวางแผนการรักษาโดยการเลือกขนาดของรากเทียม สามารถกำหนดตำแหน่งรากเทียมได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับตำแหน่งของฟันที่จะใส่ทดแทนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น กระบวนการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการวางแผนและกำหนดตำแหน่งรากฟันเทียมในการรักษานี้เรียกว่า Computer Guided Implant Surgery สำหรับคนไข้แล้วจะคล้ายกับการเข้ารับการรักษาทาง ทันตกรรมรากเทียมตามปกติ แต่ส่วนที่แตกต่างออกไปจะเป็นในส่วนของทันตแพทย์ กระบวนการทำงานหลังจากที่ทันตแพทย์ตรวจสภาพช่องปากแล้ว อาจเลือกใช้กล้องวิดีโอสำหรับถ่ายภาพในช่องปาก หรือเลือกพิมพ์ปาก เพื่อเทแบบจำลอง และนำแบบจำลองเข้าเครื่องสแกน จากนั้นผู้ป่วยจะถูกส่งไปรับการถ่ายภาพรังสีแบบ 3 มิติ โดยทันตแพทย์จะนำภาพถ่ายรังสีที่ได้มาซ้อนทับกับภาพถ่ายที่ได้จากการสแกนในช่องปาก ทันตแพทย์จะเลือกขนาดและตำแหน่งของรากเทียมที่เหมาะสม โดยจะพิจารณาจากตำแหน่งของฟัน ปริมาณกระดูกที่คนไข้มี และตำแหน่งของอวัยวะสำคัญต่างๆ จากนั้นแพทย์จะออกแบบเครื่องมือเพื่อทำการกำหนดตำแหน่งรากเทียม(Computer Guided Surgical Template) โดยเครื่องมือนี้มีลักษณะคล้ายเฝือกฟัน ทำหน้าที่ถ่ายทอดตำแหน่งของรากเทียม ไปสู่ช่องปากของคนไข้อย่างถูกต้อง ตรงจุด เครื่องมือกำหนดตำแหน่งรากเทียม จะถูกปริ๊นท์ผ่านเครื่องพิมพ์สามมิติ(3D Printer) และส่งให้กับ ทันตแพทย์ที่จะทำการฝังรากเทียม โดยจะต้องตรวจสอบก่อนเสมอว่า เครื่องมือกำหนดตำแหน่งรากเทียมมีความแนบสนิทกับฟันของผู้ป่วย ทันตแพทย์จึงจะทำการฝังรากเทียม โดยใช้หัวกรอที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ เพื่อให้มีความพอดีกับเครื่องมือกำหนดตำแหน่งรากเทียม
ประโยชน์ของการวางแผนการรักษาและกำหนดตำแหน่งรากเทียมโดยใช้คอมพิวเตอร์ คือ การช่วยลดระยะเวลาที่ใช้ในการผ่าตัดฝังรากเทียม เนื่องจากตำแหน่งถูกกำหนดมาแล้ว ทำให้ทันตแพทย์สามารถฝังรากเทียมได้รวดเร็วขึ้น การช่วยลดความผิดพลาดของตำแหน่งรากเทียม ทั้งนี้ ตำแหน่งของรากเทียมที่ได้รับการวางแผนและกำหนดตำแหน่งด้วยคอมพิวเตอร์นี้จะมีความคลาดเคลื่อนน้อย การทำให้ทราบข้อมูลสำคัญๆ ที่เกี่ยวกับฟัน เพื่อใช้ในการวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสมในอนาคต เช่น ปริมาณกระดูกที่มีของคนไข้ ตำแหน่งของเส้นประสาท ถ้าหากผู้ป่วยมีสภาพกระดูกแข็งแรง หลังจากที่ฝังรากเทียมไปเพียงแค่ 1 สัปดาห์ ก็สามารถใส่ฟันบนรากฟันเทียมได้ทันทีสำหรับคอมพิวเตอร์และการถ่ายภาพรังสีแบบสามมิติ จะช่วยในการฝังรากเทียม นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่นำมาใช้ในการให้การรักษาทางทันตกรรมรากเทียม เพื่อประสิทธิภาพและประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วย ศูนย์ทันตกรรมโรงพยาบาลกรุงเทพพร้อมให้บริการโดยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณภาพและประสบการณ์ สอบถามรายละเอียดได้ที่ศูนย์ทันตกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ ชั้น 2 อาคารทันตกรรม (ปากซอยเพชรบุรี 47) โทร.02-755-1335 หรือ Call Center โทร. 1719
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit