รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย และประธานจัดงาน Thailand Halal Assembly 2017 กล่าวว่า กลับมาอีกครั้งอย่างยิ่งใหญ่ หลังจากประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงสร้างปรากฎการณ์ฮาลาลไทยสู่เวทีฮาลาลโลก กับการจัดการประชุมวิชาการและการแสดงสินค้านานาชาติ ""Thailand Halal Assembly 2517"" ครั้งที่ 4 โดย สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย (สมฮท.) และ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้แนวคิด ""ภูมิปัญญาฮาลาล : จุดบรรจบของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และศิลปวิทยาอิสลาม"" (Halal Wisdom : Convergence of Science, Technology and Islamic Arts) โดยเจตนารมณ์เพื่อแสดงศักยภาพของกิจการฮาลาลประเทศไทย รวมถึงส่งเสริมและพัฒนากิจการฮาลาลประเทศไทย ให้ประชาคมโลกได้รับรู้ถึงคุณลักษณะที่โดดเด่นในระบบและกระบวนการดำเนินงาน ภายใต้ ""หลักการศาสนารับรองและวิทยาศาสตร์รองรับ"" อันเป็นผลให้ผลิตภัณฑ์ฮาลาลของไทยเป็นที่เชื่อถือในตลาดโลก
โดยการประชุมวิชาการและการแสดงสินค้านานาชาติ ""Thailand Halal Assembly 2517"" จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม 2560 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC) ภายในงานประกอบด้วย การประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรมและธุรกิจฮาลาล ครั้งที่ 10, งานแสดงสินค้า THAILAND INTERNATIONAL HALAL EXPO 2017 (TIHEX) จากผู้ประกอบการฮาลาลทั้งในและต่างประเทศ กว่า 250 บูท, การประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยมาตรฐานฮาลาล (THE HALAL CB CONVENTION) จากหน่วยงานตรวจรับรองฮาลาลทั่วโลก, การนำเสนอผลงานทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล รวมทั้งการจับคู่เจรจาทางธุรกิจฮาลาล
ปัจจุบันตลาดผลิตภัณฑ์ฮาลาลมีมูลค่ามหาศาลและมีผู้ผลิตทั่วโลกให้ความสำคัญ เพราะมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เป็นชาวมุสลิมกระจายอยู่ทั่วโลกมากกว่า 1,800 ล้านคน และคาดว่าภายในปี 2030 จะมีจำนวนมุสลิมทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 2,200 ล้านคน หรือคิดเป็น 26.4% ของประชากรทั้งโลก ซึ่งมีตลาดรวมผลิตภัณฑ์ฮาลาลคิดเป็นมูลค่ากว่า 3.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และมีผู้ค้าหรือผู้ส่งออกรายใหญ่ ได้แก่สหรัฐอเมริกา บราซิล แคนาดา อินเดีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ และ ออสเตรเลีย ในขณะที่ประเทศไทยเองมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาลเป็นอันดับสิบของโลก แต่เมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าส่งออกของประเทศต่าง ๆ ประเทศไทยยังส่งออกได้น้อยโดยคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1 % ของมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมดของประเทศ ทั้งที่จริง ๆ แล้วประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาลมูลค่ากว่า 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐไปยังประเทศสมาชิกโอไอซี อย่างไรก็ตามในจำนวนนี้มีไม่ถึง 10% ที่เป็นสินค้าส่งออกที่ผ่านการรับรองฮาลาล เราจึงจำเป็นต้องให้ผู้ประกอบการส่งออกมาขอรับรองฮาลาล ซึ่งเป็นเป้าหมายที่จะทำให้ฮาลาลไทยเป็นที่หนึ่งในโลก
ซึ่งการจัดการประชุมวิชาการและการแสดงสินค้านานาชาติ ""Thailand Halal Assembly 2517"" ในครั้งนี้ ได้ตั้งเป้าหมายว่าตลอด 4 วันจะมีผู้ร่วมงานกว่า 25,000 คน อีกทั่งยังมุ่งหวังว่าการจัดงานในครั้งนี้จะสามารถเผยแพร่องค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีเรื่องฮาลาลประเทศไทย ต่อประชาคมโลกให้รับทราบและสร้างความเชื่อมั่นต่อคุณภาพและมาตรฐานสินค้าฮาลาลของประเทศไทย พัฒนาให้สินค้าและบริการฮาลาลไทยสู่ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาลติดอัน 1 ใน 5 ของโลก อีกทั้งเพื่อประชาสัมพันธ์พัฒนาการทางเทคโนโลยี งานวิจัย และศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลของประเทศไทยให้ผู้สนใจที่เข้าร่วมงานได้รับทราบอีกด้วย รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร กล่าวปิดท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit