นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง เผยว่า การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สนับสนุนและส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ รวมถึงการแปรรูปยางเพิ่มมูลค่า ซึ่งการแปรรูปยางจะเป็นวิธีการแก้ปัญหาราคายางที่มีความผันผวนได้อย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรมมากที่สุด โดยที่ผ่านมา มีการดำเนินโครงการและกิจกรรมที่มุ่งเน้นไปในด้านการแปรรูปยางและนำนวัตกรรมต่างๆ มาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับยางพารา เช่น โครงการยางล้อประชารัฐ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ยางที่เกิดจากการบูรณาการจากองค์กร 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และ ภาคเกษตรกร เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม ขณะนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากเกษตรกรและผู้ที่สนใจในพื้นที่ภาคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางภาคตะวันออกที่ร่วมนำร่องโครงการยางล้อประชารัฐจังหวัดตราด ตั้งจุดจำหน่ายผู้ที่สนใจภาคตะวันออกและภาคกลาง สามารถติดต่อซื้อล้อยางได้ที่ กยท.จ.ตราด
นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมทางหลวง จะนำยางพารามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในภารกิจของกรมทางหลวง ได้แก่ เสาหลักนำทาง แบริเอ่อร์ ซึ่งนอกจากจะเป็นการส่งเสริมการใช้อย่างในประเทศแล้วยังเป็นการช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุ ที่สำคัญ ยังเพิ่มปริมาณการใช้ยางให้มากขึ้นด้วย รวมไปถึงในอนาคต กยท. มีแนวคิดที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรแปรรูปหมอนยางพาราภายใต้คุณภาพและมาตรฐานเดียวกัน โดยให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ผลิตหมอนยางพารา เข้าร่วมโครงการเพื่อผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนด และ กยท. จะดำเนินการเร่งหาตลาดในการส่งออกผลิตภัณฑ์หมอนยางพารา ซึ่งอยู่ระหว่างการพูดคุยร่วมกับกลุ่มสหกรณ์และผู้ประกอบการกว่า 50 แห่งทั่วประเทศ
""ขอบคุณความร่วมมือต่างๆ จากเกษตรกรและสถาบันเกษตรชาวสวนยาง รวมถึงข้อเสนอแนะต่างๆ กยท. พร้อมนำข้อเสนอต่างๆ ไปทบทวนและหาแนวทางแก้ปัญหา และเชื่อว่าหากมีการทำงานร่วมกันเดินไปด้วยกัน เราก็จะสามารถผ่านทุกปัญหาไปได้"" รองผู้ว่าการกล่าวทิ้งท้าย
ด้าน นายวิชระ ชื่นอารมณ์ ประธานสหกรณ์เครือข่ายยางพารา จ.ตราด จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันทางสหกรณ์รับซื้อน้ำยางสดจากเกษตรกรแล้วนำมาปั่นเป็นน้ำยางข้น สำหรับสถานการณ์ราคายางตอนนี้ ทางสหกรณ์ได้ช่วยรับซื้อพยุงราคาให้เกษตรกรรายย่อยซึ่งสูงกว่าเอกชนอื่นๆ ในพื้นที่ โดยน้ำยางสดทางสหกรณ์รับซื้อที่ราคา 41 บาท/กิโลกรัม ทั้งนี้ มองว่าการแก้ปัญหาราคายางอีกวิธีที่ดี คือ การแปรรูปยางและส่งออกเป็นผลิตภัณฑ์ยางให้เพิ่มขึ้น เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยส่งออกวัตถุดิบยางถึง 87% ในขณะที่ส่งออกเป็นผลิตภัณฑ์ยางแค่ 13% จึงไม่สามารถแก้ปัญหายางในประเทศได้ในระยะยาว เมื่อเกษตรกรสามารถแปรรูปและมีรายได้จากผลิตภัณฑ์แทนการขายแต่วัตถุดิบเพียงอย่างเดียวก็จะสามารถพึ่งพาตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งราคายางเพียงอย่างเดียว อีกทั้ง ยังเป็นการช่วยเหลือด้านราคายางในระยะยาว ซึ่งจะยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน
นายเกรียงไกร เทพินทร์ ประธานสหกรณ์ยางพาราเนินดินแดงตราด กล่าวว่า สถานการณ์ในช่วงราคายางผันผวน เกิดขึ้นตามกลไกการตลาด จะต้องส่งเสริมการเพิ่มมูลค่ายางพาราโดยแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางต่างๆ ใช้ในประเทศและส่งออกขายต่างประเทศ ไม่หยุดแค่วัตถุดิบยางเท่านั้น ขณะนี้ทางสหกรณ์ก็ได้แปรรูปวัตถุดิบยางที่รับซื้อเป็นหมอนยางพารา ซึ่งการทำหมอนยางพาราจะเป็นการช่วยเหลือสมาชิกของสหกรณ์ นอกจาก การรับซื้อน้ำยางแล้ว ยังให้กลุ่มแม่บ้านชาวสวนยางตัดเย็บปลอกหมอนเพื่อส่งขายพร้อมหมอนยางพาราด้วย
""รู้สึกเห็นด้วยและชอบที่ กยท. ทำโครงการล้อยางประชารัฐขึ้นมา เพราะเป็นโครงการที่ส่งเสริมการแปรรูปและเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ และอยากให้ กยท. มีโครงการในรูปแบบนี้อีกหลายๆ โครงการอยากให้เกษตรกรใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง หันมาพึ่งพาตนเอง พยายามจับกลุ่มเข้าหาสถาบันและรวมตัวกันทำกิจกรรมร่วมกันในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพารา เพื่อให้สามารถอยู่ได้ในช่วงที่ราคายางผันผวน การมองหาอาชีพเสริมจะสามารถสร้างรายได้เพื่อนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของพวกเราพี่น้องชาวสวนยางต่อไป"" นายเกรียงไกร กล่าวทิ้งท้าย