"หมอทางใจ" กับ "นายแพทย์ธรณินทร์" แนะ คนใกล้ตัว "ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า" รับฟังอย่างตั้งใจ ไม่โต้แย้ง

07 Nov 2017
คอลัมน์ "หมอทางใจ" กับ "นายแพทย์ธรณินทร์ กองสุข" ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง จ.เชียงใหม่ วันที่ 1-7 พฤศจิกายน ของทุกปี "กรมสุขภาพจิต" กระทรวงสาธารณสุข จัดให้เป็น "สัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ" เพื่อให้หน่วยบริการสุขภาพจิตทุกแห่งทั่วประเทศ จัดกิจกรรมรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องด้านจิตเวชและสุขภาพจิตแก่ประชาชน
"หมอทางใจ" กับ "นายแพทย์ธรณินทร์" แนะ คนใกล้ตัว "ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า" รับฟังอย่างตั้งใจ ไม่โต้แย้ง

พร้อมทั้งจัดบริการที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่เข้าเยี่ยมชมในงาน ในปีนี้ ธีมของงานคือ "Depression let's talk หรือ ซึมเศร้า…เราคุยกันได้"

ซึ่งเป็นหัวข้อรณรงค์ของ "องค์การอนามัยโลก" ในปีนี้นั้นเอง

ประชาชนที่สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้ โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลจิตเวช เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น อุบลราชธานี นครราชสีมา นครสวรรค์ สงขลา สุราษฎ์ธานี นนทบุรี นครปฐม เป็นต้น

กรมสุขภาพจิต คาดประมาณว่าจะมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในประเทศไทยถึง 1.5 ล้านคน และตามรายงานในจดหมายข่าวประชากรและการพัฒนาของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ของมหาวิทยาลัยมหิดล ฉบับที่ 4 ปีที่ 37

พบว่าขนาดครอบครัวไทยโดยเฉลี่ยคือ 2.7คน จะทำให้มีผู้ที่ต้องอยู่ร่วมกับญาติหรือคนใกล้ชิดที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 4 ล้านคนเลยทีเดียว

ผมจึงขออนุญาต แนะนำการอยู่กับคนใกล้ตัวที่ซึมเศร้า ด้วยการเข้าใจเขา ดูแลพวกเขา และดูแลตัวเองไปพร้อมกัน ดังนี้

ทำความเข้าใจกับภาวะซึมเศร้า...

ภาวะซึมเศร้า เป็นความเจ็บป่วย ไม่ใช่ความอ่อนแอทางจิตใจ จะมีความรู้สึกไม่สบายใจ ทุกข์ใจ เศร้า ท้อแท้ ซึม หงอย เบื่อ ไม่อยากพูดไม่อยากทำอะไร หรือทำอะไรก็ไม่สนุกเพลิดเพลินเหมือนเดิม

ถ้าไม่รีบรักษา... อารมณ์เศร้า...จะเป็นมากขึ้น รุนแรงขึ้น ถ้าเศร้า อยู่เกือบทั้งวันติดต่อกันจนถึง 2 สัปดาห์ จะมีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า เกิดจากสารสื่อประสาทในสมองเสียความสมดุลย์ ส่งผลให้เกิดอารมณ์เศร้ามากและนานกว่าคนปกติ ส่งผลทำให้คนมีความคิดต่อผู้คนและเหตุการณ์รอบตัวออกมาทางด้านลบ ส่งผลให้เกิดความแปรปรวนของระบบการกินการนอน รวมถึงความรู้สึกทางเพศที่ลดลง

อาการซึมเศร้าจะเป็นนานเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค....แต่รักษาหายได้

การรักษาต้องใช้เวลานาน อย่างน้อย 6-9 เดือน สิ่งจำเป็นที่สุดคือ การดูแลด้วยความตั้งใจและอดทน จากเพื่อน ครอบครัว และคนใกล้ชิด ... จะช่วยให้อาการซึมเศร้าหายเร็วขึ้น

ความเครียด การดื่มสุราแอลกอฮอล์ การอดนอน จะทำให้อาการซึมเศร้าเป็นมากขึ้น

ท่านสามารถช่วยผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าใกล้ตัวได้ โดย...เข้าหาและบอกว่า ยินดีช่วยเหลือ

รับฟังอย่างตั้งใจและเข้าใจ ไม่โต้แย้ง ไม่วิพากษ์วิจารณ์ ในการพูดคุย

ทำความเข้าใจ และหาความรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าให้มากขึ้น

พาไปพบจิตแพทย์ และไปเป็นเพื่อนเสมอเมื่อถึงวันนัดตรวจ

อาการซึมเศร้า จะดีขึ้นใน 2-3 สัปดาห์หลังรับประทานยา แต่ต้องดูแลให้ได้รับยาครบตามที่แพทย์สั่งด้วยความอดทนใจเย็น

ดูแลให้ได้กิน และนอน เป็นเวลาสม่ำเสมอทุกวัน

ชวนให้ออกกำลังกาย และร่วมกิจกรรมในชุมชนด้วยกัน ซึ่งอาจจะชวนยากหน่อยแต่ก็เป็นสิ่งควรทำอย่างยิ่ง

ชี้แนะ บอกถึงการมองสิ่งรอบข้างอย่างมีความสุข และไม่นึกสิ่งที่บั่นทอนจิตใจหรือ สิ่งที่ทำให้รู้สึกไม่ดี เช่น ความรู้สึกแย่ต่อตนเอง หรือรู้สึกว่าตนเองล้มเหลว หรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระกับครอบครัว

หากผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าบอกไม่อยากมีชีวิตอยู่ อยากทำร้ายตนเอง อย่าปล่อยให้อยู่คนเดียว ให้ดูแลช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เก็บสิ่งที่อาจเป็นอันตรายไม่ให้มีในบ้าน เช่น เชือก ของมีคม อาวุธปืน ยาปราบศัตรูพืช ยาฆ่าแมลง หรือยาอันตรายต่างๆ

อย่าลืมนะครับ ท่านต้องดูแลตนเองด้วยด้วยวิธีเดียวกัน ทำไปพร้อมกันกับคนใกล้ตัวที่มีภาวะซึมเศร้า

โปรดจำไว้ว่า... ท่านสามารถช่วยคนเศร้า ไม่ให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้ ... และ เมื่อป่วย ก็รักษาหายได้