แพทย์หญิงรัตนพรรณ สมิทธารักษ์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคเบาหวานเกิดจากเซลล์ร่างกายมีความผิดปกติในกระบวนการเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดให้กลายเป็นพลังงาน ร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างโดยตับอ่อนและมีหน้าที่ในการส่งต่อน้ำตาลในเลือด ไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกายได้เพียงพอ ร่วมกับภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้ไม่สามารถนำอินซูลินไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติทำให้เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งพบได้ทุกเพศทุกวัย และหากไม่รีบเข้ารับการรักษาหรือไม่รู้ตัวว่าเป็น ปล่อยปละละเลยอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ "หากระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารมากกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรและระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมมากกว่า 6.4 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปจะถือว่าผู้นั้นเป็นโรคเบาหวาน โรคนี้ถือเป็นโรคที่น่ารำคาญโรคหนึ่ง เพราะเมื่อเป็นแล้วจะส่งผลในระยะยาว รวมถึงนำมาซึ่งความรุนแรงถึงชีวิตได้ หากไม่ควบคุมและทำการรักษาอย่างถูกต้องไม่ว่าจะเป็น ตาบอด ไตวายเรื้อรัง สูญเสียขา หลอดเลือดหัวใจอุดตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น ดังนั้น ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งรักษาเร็ว ยิ่งควบคุมได้เร็ว จะช่วยชะลอผลแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานได้"
โรคเบาหวานสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ชนิดคือ 1. โรคเบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes) เกิดจากตับอ่อนไม่ผลิตอินซูลิน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง มักพบในเด็กหรือผู้ที่อายุน้อยกว่า 30 ปี รักษาโดยการฉีดอินซูลิน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานและการออกกำลังกาย 2. โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes) พบมากในคนไทย เกิดจากตับอ่อนผลิตอินซูลินได้ไม่มากนัก ส่งผลให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งอายุที่เพิ่มมากขึ้นมีส่วนทำให้การทำงานของตับอ่อนลดประสิทธิภาพลง หากเป็นแล้วรักษาได้โดยการทานยาและฉีดยา พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานและการออกกำลังกาย เหตุเพราะในปัจจุบันคนไทยเป็นโรคอ้วนกันมาก แพทย์หญิงรัตนพรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ส่วนใหญ่แล้วคนอ้วนมักเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 เนื่องจากเกิดภาวะดื้ออินซูลิน เพราะเวลาที่ไขมันมีปริมาณมากส่งผลให้อินซูลินทำหน้าที่ได้ไม่ดีนักในการส่งน้ำตาลในเลือดไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ ซึ่งการควบคุมน้ำหนักให้เป็นไปตามเกณฑ์ จะช่วยลดความเสี่ยงเบาหวานได้" 3. โรคเบาหวานที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ เกิดจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปจากการตั้งครรภ์ส่งผลให้ร่างกายเกิดภาวะดื้ออินซูลิน มีแนวโน้มที่จะมีระดับน้ำตาลสูงขึ้น ดังนั้นคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุ 25 ปีขึ้นไป หรือคุณแม่ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวาน เช่น มีญาติสายตรงเป็นเบาหวาน น้ำหนักก่อนตั้งครรภ์สูง ครรภ์แฝด หรือผู้มีบุตรยาก เป็นต้น จำเป็นที่จะต้องตรวจอย่างละเอียด โดยเฉพาะในช่วงเดือนที่ 2 และ 3 หากคุณแม่เป็นเบาหวานจะส่งผลกระทบต่อเด็กในครรภ์ การรักษานั้นจะเน้นการใช้ยาที่มีผลข้างเคียงกับคุณแม่และทารกน้อยที่สุดและดูแลเรื่องการรับประทานอาหารอย่างใกล้ชิด 4. โรคเบาหวานชนิดอื่นที่มีสาเหตุเฉพาะ ได้แก่ ความผิดปกติทางพันธุกรรม ความผิดปกติของฮอร์โมน การได้รับยาบางชนิด เช่น ยาในกลุ่มสเตียรอยด์หรือสารเคมี เป็นต้น การรักษาจะพิจารณาจากอาการของแต่ละบุคคล อาการของโรคเบาหวานที่สามารถสังเกตได้และควรปรึกษาแพทย์โดยเร็วคือ ปัสสาวะบ่อย, น้ำหนักลดแบบไม่ทราบสาเหตุ, กระหายน้ำบ่อย กินจุมากกว่าปกติ, ชาปลายมือปลายเท้า อ่อนเพลีย, คลื่นไส้ เวียนหัว หงุดหงิด และเกิดอาการตามัวบ่อยๆ รู้สึกไม่มีสมาธิเพิ่มมากขึ้น
เบาหวานป้องกันได้เมื่อยังไม่เป็น ได้แก่ เลี่ยงของหวาน น้ำอัดลม น้ำรสหวานทุกชนิด, รับประทานให้ถูกสัดส่วน เลือกรับประทานอาหารให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย, ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์, อาหารควรเน้นรสจืด โดยเฉพาะมื้ออาหารประจำวันในครอบครัว และ รักษาน้ำหนักให้คงที่เป็นไปตามเกณฑ์ที่เหมาะสม แต่หากป่วยเป็นโรคเบาหวานแล้ว สิ่งที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรทำเมื่อรู้ว่าตนเองเป็นเบาหวานคือ ให้ยอมรับตัวเองและเข้ารับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ, ให้ความร่วมมือในการรักษา รับประทานยาและปฏิบัติตัวตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด, ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ควบคุมอาหาร ออกกำลังกายสม่ำเสมอ, เลี่ยงน้ำหวาน ผลไม้หวาน ลดไขมันและอาหารรสเค็ม เน้นการรับประทานทานผักให้มาก ที่สำคัญควรดูแลระดับน้ำตาลอย่างใกล้ชิด ควบคุมความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือด
เนื่องในวันเบาหวานโลก 2017 ปีนี้สหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ มุ่งเน้นเรื่องของโรคเบาหวานและผู้หญิงเป็นหลัก แพทย์หญิงรัตนพรรณ กล่าวทิ้งท้ายถึงการใส่ใจให้ห่างไกลจากโรคว่า "เบาหวานเป็นเรื่องใกล้ตัว คนที่ไม่มีกรรมพันธุ์ก็สามารถเป็นได้ เพราะฉะนั้นควรดูแลตนเอง ไม่ติดกับรสหวาน เพราะประโยชน์ที่ได้รับน้อยมาก ถ้าเลี่ยงได้จะดีต่อสุขภาพ ยิ่งผู้หญิงยุคใหม่สามารถเลือกได้ว่าจะไปกินของหวาน หรือไปออกกำลังกาย เพราะหากระวังตั้งแต่วันนี้ จะช่วยลดความ เสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานในระยะยาวได้" สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร 02- 755-1129, 02-755-1130 หรือ call center โทร. 1719
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit