"งานวิ่งมาราธอน บางแสน42 เป็นงานที่ตั้งใจสร้างมาตรฐานใหม่ของวงการวิ่งไทยให้เป็นงานวิ่งที่ได้มาตรฐานระดับโลก เทียบเคียงกับสนามนานาชาติ ซึ่งหนึ่งในหัวใจหลักสู่การเป็นสนามวิ่งที่ได้มาตรฐานระดับโลก คือ การบริการทางการแพทย์ ที่ได้มาตรฐานตามที่ IAAF กำหนด ผมจึงได้ทาบทามหมอแป๊บ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู และเป็นคุณหมอที่เป็นนักวิ่ง ย่อมเข้าใจดีว่านักวิ่งต้องการอะไร และจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อวิ่งในระยะมาราธอน นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากอาสาสมัครที่เป็นทีมแพทย์ พยาบาล และนักวิ่ง จำนวน 109 คน เข้าร่วมเป็นกำลังเสริม โดยไมซ์ ได้จัดอบรมทีมอาสาสมัคร จำนวน 2 ครั้ง เพื่อซักซ้อมความเข้าใจและลงพื้นที่จริงก่อนถึงวันจัดงาน พร้อมทั้ง ยังส่งพนักงานไมซ์ทุกคนเข้าอบรมการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ให้พร้อมช่วยเหลือในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยงานวิ่งบางแสน42 ได้เตรียมเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า (AED) ไว้มากถึง 20 เครื่องอีกด้วย" นายรัฐ กล่าว
นพ. ภัทรภณ อติเมธิน หรือหมอแป๊บ Medical Director ของงาน บางแสน42 เผยว่า ในฐานะที่เป็นหมอและเป็นนักวิ่ง ดีใจที่จะได้มีส่วนร่วมสร้างมาตรฐานการดูแลทางการแพทย์ที่ดีให้กับสนามวิ่งไทยเทียบเท่ากับสนามวิ่งระดับโลก เพื่อรองรับนักวิ่งมาราธอนจำนวน 6,000 คน ที่จะมาร่วมงานวิ่งมาราธอน บางแสน42 โดยได้วางแผนทางการแพทย์ ตามมาตรฐานที่ทาง IAAF กำหนด ซึ่งจะมีจุดปฐมพยาบาลจำนวน 9 จุด โดยมีศูนย์ประสานงานทีมแพทย์หลัก หลังเส้นชัย 1 จุด ที่เรียกว่า Mini Hospital เพื่อคัดกรองอาการบาดเจ็บ และ ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ของนักวิ่ง ก่อนส่งโรงพยาบาลให้ทันท่วงที และมีจุดปฐมพยาบาลตลอดเส้นทางวิ่งทุกๆ 5 กิโลอีก 8 จุด มีการจัดเตรียมบุคลากรทางการแพทย์ ประกอบด้วย แพทย์ 2-3 คน ต่อจำนวนนักวิ่ง 1,000 คน และพยาบาล 4-6 คน ต่อจำนวนนักวิ่ง 1,000 คน ซึ่งงานบางแสน42 มีทีมแพทย์ทั้งสิ้น 19 คน พร้อมทั้งพยาบาลอีก 36 คน นอกจากนี้ ยังได้เตรียมเจ้าหน้าที่กู้ชีพฉุกเฉิน 36 คน อาสาสมัคร 54 คน ทีมนักกายภาพบำบัด และแพทย์แผนไทยอีกกว่า 100 คน
"งานวิ่งมาราธอน บางแสน42 จะเป็นงานวิ่งแรกในประเทศไทย ที่มีทีมแพทย์ตามมาตรฐานระดับโลกกำหนดไว้ และยังเป็นงานแรกที่จุดปฐมพยาบาลศูนย์ประสานงานหลักหลังเส้นชัย จะเป็นเหมือนโรงพยาบาลเคลื่อนที่ (Mini Hospital) สามารถให้บริการเจาะเลือด ตรวจเลือด หรือเอกซ์เรย์ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาลในลำดับต่อไป นอกจากนี้ ในระหว่างเส้นทางวิ่ง จะมีทีมอาสาสมัครร่วมวิ่งไปกับนักวิ่ง และปั่นจักรยานดูแลความเรียบร้อยตลอดเส้นทาง พร้อมช่วยเหลือเบื้องต้นและประสานงานกับรถพยาบาลเพื่อนำส่งผู้ป่วยให้ถึงมือแพทย์โดยเร็วที่สุด นักวิ่งจึงมั่นใจได้หากเกิดเหตุฉุกเฉินในระหว่างการวิ่ง ซึ่งทีมแพทย์ไม่เพียงแต่บริการนักวิ่งเท่านั้น ยังให้บริการครอบคลุมถึงผู้เข้าชมงานวิ่งทุกท่านอีกด้วย"
สำหรับอาการที่พบเจอบ่อยที่สุดในการวิ่งระยะมาราธอน คือ อาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะการบาดเจ็บหัวเข่า จากการใช้งานหนักและยาวนานจากการวิ่งมาราธอน และการเป็นตะคริว อาการเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเตรียมตัวมาไม่ดีพอของนักวิ่ง หรือการออกตัวแรงและเร็วกว่าแผนวิ่งที่เตรียมไว้เนื่องจากบรรยากาศในงานวิ่งพาไป ส่วนอาการที่พบน้อยแต่ยังพบเจออยู่บ้าง คือ อาการเป็นลม หมดสติ หัวใจวาย ทั้งจากผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอยู่เดิม และไม่พบประวัติมีปัญหาสุขภาพใดๆ คำแนะนำสำหรับนักวิ่ง คือ ตรวจสุขภาพให้พร้อม เช็คประวัติอาการป่วยของครอบครัว และเพื่อความมั่นใจในความปลอดภัยสูงสุด คือ การตรวจอัตราการเต้นของหัวใจโดยการวิ่งบนสายพาน เพื่อเช็คว่าหัวใจเต้นเป็นปกติหรือไม่ เมื่อออกกำลังกายหนัก
"มีคำกล่าวของ IAFF ที่บอกว่า การเตรียมตัวให้พร้อมเป็นหน้าที่ของนักวิ่ง ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของนักวิ่งเอง เบื้องต้นนักวิ่งควรดูแลตัวเอง เตรียมตัวมาให้พร้อมสำหรับการวิ่งมาราธอน นอกเหนือจากนั้นปล่อยให้เป็นหน้าที่ของทีมแพทย์ ซึ่งงานวิ่งมาราธอน บางแสน42 นี้ นักวิ่งสามารถวางใจได้หากเกิดเหตุฉุกเฉิน ทีมแพทย์พร้อมให้ความช่วยเหลืออย่างสุดความสามารถ" หมอแป๊บ กล่าวนอกจากนี้ งานบางแสน42 ยังมีการทำประกันอุบัติเหตุ วงเงินรักษาพยาบาล 100,000 บาท ให้กับนักวิ่งทุกคน
ติดตามความเคลื่อนไหวของงาน บางแสน42 ได้ที่ www.bangsaen42.com และ www.facebook.com/BANGSAEN42 และ Official Line @BANGSAEN42
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit