นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รองผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทยด้านบริหาร ในฐานะผู้จัดการหน่วยธุรกิจ กล่าวว่า ตลาดกลางยางพาราจังหวัดหนองคาย เปิดให้บริการซื้อขายผลผลิตยางแผ่นดิบและยางก้อนถ้วยครอบคลุมพื้นที่ 10 จังหวัดในภาคอีสาน ได้แก่ หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย สกลนคร นครพนม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และมุกดาหาร ปีที่ผ่านมา ตลาดกลางแห่งนี้ มีปริมาณยางแผ่นดิบและยางแผ่นรมควัน 180,474 กก./ปี และเริ่มลดลง เนื่องจาก ชาวสวนยางในพื้นที่อีสานกว่า 99 % นิยมขายวัตถุดิบในรูปแบบยางก้อนถ้วย โดยในปี 2559 และ 2560 มีปริมาณยางก้อนถ้วยเข้าสู่ตลาด 961,156 และ 878,023 กก. ตามลำดับ จึงได้มีการพัฒนาตลาดให้รองรับการซื้อขายยางก้อนถ้วย แต่ที่ผ่านมา เกษตรกร สถาบันเกษตรกรยังคงประสบกับปัญหาเรื่องความเป็นธรรมของราคา ฉะนั้น หน่วยธุรกิจตลาด (BU) จึงเห็นว่า เพื่อให้การซื้อขายประมูลยางก้อนถ้วยเกิดความเป็นธรรม ตามคุณภาพ และน้ำหนักจริง จึงได้เข้าซื้อยางก้อนถ้วยในฐานะผู้ซื้อรายหนึ่ง แต่จะรับซื้อในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับคุณภาพยางที่เกษตรกรนำมาขาย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นให้เกษตรกรหันมาทำยางคุณภาพดี ตามมาตรฐาน GAP เพิ่มมูลค่ายางก้อนถ้วย และเพิ่มการต่อรองราคาในตลาดได้
""ตลาดกลางยางพารา จะเป็นทางเลือกของเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางในการขายยาง โดยมีราคาที่เป็นธรรมในการซื้อขายจริง และสามารถเป็นราคาอ้างอิงในท้องถิ่นได้ เน้นซื้อขายผลผลิตที่มีคุณภาพเพื่อให้ได้ราคาที่ดี และเป็นไปตามมาตรฐานความต้องการของตลาด ปริมาณยางก้อนถ้วยที่เข้าตลาดกลางยางพาราหนองคาย เฉลี่ยรอบละ 80 ตัน คาดว่า การเข้าประมูลยางก้อนถ้วยตลาดกลางยางพาราหนองคายของหน่วยธุรกิจ ไม่เพียงแต่ผลักดันคุณภาพผลผลิตเท่านั้น แต่จะช่วยชี้นำให้เกิดความเป็นธรรมตามคุณภาพ น้ำหนักและราคาด้วย"" ผจก.BU กล่าวเพิ่มเติมว่า
นายวิชิต ขันติยู เกษตรกรอำเภอรัตนวาปี จังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ได้นำผลผลิตมาขายที่ตลาดกลาง ตั้งแต่เริ่มเปิดตลาดเมื่อปี 2558 ซึ่งที่ตลาดกลาง ตาชั่งแน่นอน มีการคัดชั้นเกรดยาง เปิดโอกาสให้พ่อค้าซื้อแข่งขันกัน เพื่อให้ได้ราคาที่ดีกับเกษตรกรผู้ขาย เป็นโอกาสที่ดีมากที่ทางภาครัฐ ให้ความสำคัญการซื้อขาย ซึ่งจะสร้างความเป็นธรรม ให้เกษตรกรที่ผลิตยางก้อนถ้วยคุณภาพดีมีรายได้ที่สูงขึ้น
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit