ประเทศไทยกำลังจะเริ่มเข้าสู่ความเป็นสังคมสูงวัย เมื่อประชากรสูงอายุเพิ่มจำนวนขึ้น ขณะที่คตินิยมสังคมไทยเปลี่ยนไป ครอบครัวมีขนาดเล็กลง คนชราถูกทอดทิ้ง เป็นภาระของสังคมและรัฐบาลต้องกำหนดนโยบายต่างๆมารองรับ ทำให้ต้องวางแผนยืดการเกษียณอายุงานออกไป ยุทธศาสตร์การดูแลสังคมสูงวัยต่างๆจึงผุดขึ้นมาอย่างมากมาย เพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิต
เรื่องที่น่าวิตกที่สุดประการหนึ่งของสังคมไทย คือ การที่หน่วยงานต่างๆ ในสังคมไม่ได้เตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่เพื่อที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาต่อจากนั้นจะส่งผลกระทบอย่างยิ่งในทุกๆ ด้านทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง นอกจากการจัดระบบสาธารณสุขให้สามารถรองรับได้อย่างครบถ้วนแล้ว แนวทางการแก้ไขที่สำคัญยิ่งอีกประการก็คือคนในสังคมต้องปรับเปลี่ยนทัศนะความเชื่อที่มีต่อผู้สูงอายุ จากมุมมองที่ว่าผู้สูงอายุคือภาระ เปลี่ยนเป็น ""ผู้สูงอายุ คือคุณค่าและพลังเกื้อหนุนสังคม""
โครงการ "อัศวินผมขาว" โดย ผศ.ดร.วีรณัฐ โรจนประภา นักวิชาการด้านสังคมผู้สูงวัยและนายกสมาคมบ้านปันรัก มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกิจกรรมอันเป็นประโยชน์แก่กลุ่มผู้สูงวัย ภายใต้กรอบความคิดว่า""ผู้สูงอายุไม่ใช่ภาระ ไม่ใช่หนี้สินแต่กลับเป็นสินทรัพย์อันทรงคุณค่าอย่างยิ่ง""และเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สูงวัยได้ใช้ศักยภาพที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์อย่างที่สุด นำมาซึ่งการสร้างความสุข การสร้างคุณค่าในตนเอง เพื่อเพิ่มพลังกายพลังใจที่ดียิ่งให้แก่ผู้สูงวัย โดยการเปิดพื้นที่แห่งการเกื้อกูล ทั้งในส่วนของผู้ให้คือผู้สูงวัย "คนผมขาว"และในส่วนของผู้รับ ""คนผมดำ"" ให้ได้รับการเรียนรู้การแบ่งปัน เพื่อสนับสนุนซึ่งกันและกันในส่วนขององค์ความรู้และประสบการณ์ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้คนในสังคมให้เกิดมุมมองใหม่ๆ ที่มีต่อผู้สูงวัย ในฐานะห้องสมุดเคลื่อนที่ เป็นนักปราชญ์ที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านต่างๆ จากรุ่นสู่รุ่น โดยมิอาจมองว่าผู้สูงวัยเป็นภาระอีกต่อไป ทั้งนี้ผู้สูงวัยที่ได้เข้าร่วมโครงการยังสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้สูงวัยท่านอื่นๆ หรือบุคคลในมิติต่างๆ ผ่านแนวความคิดแห่งการสร้างคุณค่าและส่งต่อแรงบันดาลใจให้แก่กันและกัน
ผศ.ดร.วีรณัฐ โรจนประภา กล่าวว่า"ตลอดระยะเวลาเกือบสิบปีที่สมาคมบ้านปันรักได้ดำเนินการแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุด้วยการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยเพื่อสร้างความมีส่วนร่วมในสังคมเทคโนโลยีให้แก่ผู้สูงอายุนั้น ทางสมาคมได้พบว่าปัจจัยสำคัญในการแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุนี้ได้อย่างยั่งยืนคือการทำให้ผู้สูงอายุได้ตระหนักรู้คุณค่าในตนเอง ทั้งนี้มิใช่การรู้ด้วยการบอกกล่าวหรือการเยินยอว่าพวกท่านยังมีคุณค่า แต่ต้องเป็นการตระหนักรู้ที่ผ่านประสบการณ์ตรง ซึ่งด้วยเหตุผลนี้ทางสมาคมจึงไม่ได้ใช้ตัวชี้วัดการทำงานด้วยจำนวนผู้สูงอายุที่เข้าร่วมกิจกรรมหรือวัดที่ความรู้ที่พวกท่านได้รับหลังจากได้เข้าร่วม แต่ตัวชี้วัดของสมาคมจะวัดตรงที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงจาก ""ผู้รับ"" ให้กลายเป็น ""ผู้ให้"" แก่ผู้อื่นได้มากแค่ไหน จนถึงวันนี้จึงเกิดโครงการ "อัศวินผมขาว' นี้ขึ้น เพื่อเป็นเวทีในการเปิดโอกาสให้กับผู้สูงอายุทุกท่านได้มาเป็นผู้ให้ ได้ร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของท่านเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น
""ผมเชื่อว่า โครงการนี้จะเป็นโครงการที่สามารถสร้างสรรค์สังคมไทยให้ดีขึ้นได้มากโครงการหนึ่ง เราจะได้เห็นภาพแห่งการเกื้อกูล ดูแล เมตตา และเกิดบรรยากาศแห่งความดีงามซึ่งกันและกัน และอย่าลืมว่า ผู้สูงวัย ไม่ใช่ภาระ ไม่ใช่หนี้สิน ที่ต้องแก้ปัญหาด้วยการให้ แต่ผู้สูงวัย เป็นพลัง เป็นสินทรัพย์ ที่ต้องนำศักยภาพของท่านออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์อันจะนำมาซึ่งความสุข ความอิ่มเอมใจ ทั้งจากผู้รับและผู้ให้""
นพ.บรรลุ ศิริพานิชประธานกรรมการบริหารมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของสังคมผู้สูงอายุไว้ว่า ""เรื่องผู้สูงอายุเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2525 นักวิชาการขององค์การสหประชาชาติ (UN)ได้กล่าวถึงเรื่องของประชากรศาสตร์ว่าในปี 2518–2568 เป็นระยะเวลา 50 ปีที่ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ในขณะที่ประชากรโลกผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นถึง 224% จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ UN จุดประเด็นนี้ขึ้นมา เพื่อให้คนทั่วโลกสนใจและตระหนักถึงปัญหา หลังจากเป็นตัวแทนประเทศไทยไปประชุมที่UN กลับมานั้น UN ได้ให้แต่ละประเทศทำแผนผู้สูงอายุในระยะเวลา 20 ปีข้างหน้า โดยให้นิยามคำว่า'ผู้สูงอายุ' ไว้ว่า'Older Person' กำหนดให้วันที่ 1 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันผู้สูงอายุสากล โดยใช้ 'ต้นไทร' หรือ 'Banyan Tree'เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ สำหรับประเทศไทยได้กำหนดให้วันที่ 13 เมษายนของทุกปีเป็นวันผู้สูงอายุ และใช้ 'ดอกลำดวน'เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุในประเทศไทย""
นพ.บรรลุ ศิริพานิชยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ""สำหรับกิจกรรมผู้สูงอายุในเมืองไทย แบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายราชการ และฝ่ายเอกชน ซึ่งเอกชนในเมืองไทยมีสมาคมสภาผู้สูงอายุ ในพระราชูปถัมภ์ฯ ได้พยายามรณรงค์ให้มีชมรมผู้สูงอายุในทุกๆหมู่บ้าน ซึ่งในปัจจุบันมีการจัดตั้งแล้วกว่า 27,000 ชมรม เช่น ในจังหวัดอุบลราชธานี มีชมรมในทุกๆหมู่บ้านแล้ว ที่ให้ผู้สูงอายุในหมู่บ้านมาพบปะพูดคุยหรือทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน เป็นงานผู้สูงอายุเพื่อสังคมที่แท้จริง นี่คือสิ่งที่ต้องเรียกว่าเป็นองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านผู้สูงอายุได้ดีมากๆต่อมาได้มีพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 เป็นพระราชบัญญัติที่ทำให้ผู้สูงอายุในประเทศไทยมีสิทธิและมีคุณค่าในสังคมเพิ่มมากขึ้น ประเทศไทยโชคดีที่มีพระราชบัญญัติเพื่อผู้สูงอายุ เพราะในโลกนี้ประเทศที่มีกฎหมายเพื่อผู้สูงอายุนั้นน้อยมาก""
คุณศิริวรรณ อรุณทิพย์ไพฑูรย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กล่าวว่า ""กรมกิจการผู้สูงอายุ เราได้ใช้ชื่อว่า Department of Older Persons (DOP) ซึ่งได้ใช้ชื่อตามคำบัญญัติขององค์การสหประชาชาติ (UN) เพราะเป็นคำที่มีความหมายนัยสำคัญคือ 'พลัง'ประเทศไทยเราจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้นอย่างแน่นอนในทศวรรษหน้า กรมกิจการผู้สูงอายุจึงมีหน้าที่สำคัญในการชี้นำนโยบายและกำหนดนโยบายของผู้สูงอายุ การทำหน้าที่ขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆของผู้สูงอายุ ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 มีกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้สิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น การได้สิทธิในการลดอัตราค่าบริการสาธารณะ และการขับเคลื่อนผ่านกลไกหรือผ่านคณะกรรมการผู้สูงอายุระดับชาติ ดังนั้นในปัจจุบันรัฐบาลได้มีนโยบายเพื่อผู้สูงอายุออกมาเป็นระยะๆ ล่าสุดคือโครงการบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ นอกจากนั้นเรายังมีศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.)เป็นหน่วยงานที่มีถึง878 แห่งทั่วประเทศ มีหน้าที่เป็นศูนย์หรือให้ผู้สูงอายุในชุมชนมาทำกิจกรรมร่วมกัน ในเรื่องของสุขภาพอนามัย จิตอาสา รวมถึงการจัดทำอาชีพอีกด้วย""คุณศิริวรรณ อรุณทิพย์ไพฑูรย์ ได้กล่าวถึงหลักปฏิบัติสำหรับผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพของกรมกิจการผู้สูงอายุไว้เพิ่มเติมดังนี้ 1. Strong ผู้สูงอายุต้องมีความแข็งแรงทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดีอยู่เสมอ 2. Security คือความมั่นคงและรายได้ของผู้สูงอายุ เตรียมตัวเองให้มีรายได้ในระยะยาว รวมไปถึงที่พักอาศัย และ3. Social คือ การเข้าสังคมหรือการส่งเสริมให้มีหน่วยงานเพื่อให้ผู้สูงอายุออกมาทำกิจกรรมต่างๆ""
ดร.วิโรจน์ ลักขณาอดิศรผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน)ในฐานะที่เป็นองค์กรต้นแบบการรับผู้สูงวัยเข้าทำงาน กล่าวว่า ""สังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย องค์กรเอกชนล้วนแล้วแต่จะหาผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ยังไม่มีองค์กรใดที่เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้มีพื้นที่ในการแสดงออก ในสมัยก่อนหนึ่งครอบครัวมีลูกหลายคน ซึ่งแต่ละคนต่างก็ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ต่อให้สถาบันการเงินแนะนำให้ทำธุรกรรมเพื่อกินดอกเบี้ยในช่วงวัยเกษียณ ก็ยังไม่เพียงพอ คุณแม่ผมเคยกล่าวว่า 'ความตายไม่เคยน่ากลัว ความแก่เฒ่าไม่เคยน่ากลัว กลัวการเป็นคนแก่ที่ไม่มีเงิน ไม่มีญาติ นี่คือความน่ากลัวที่แท้จริง' ถ้าย้อนกลับไปเมื่อประมาณปี2530 เมื่อบริษัทประกาศรับสมัครงานก็มีใบสมัครมาเป็นร้อย แต่ในปัจจุบันสถานะกลับกัน คนรุ่นใหม่มาสมัครงานกันน้อยลง แต่ผู้สูงอายุหลายคนในปัจจุบัน เป็นผู้ส่งใบสมัครเพื่อขอเข้าทำงานมากกว่า ผมเคยถามผู้สูงอายุหลายท่านว่ามาทำงานมีความสุขหรือเปล่า คำตอบที่ได้รับคือ'มีความทุกข์บ้าง ความสุขบ้างเหมือนกับคนทั่วไป ถ้ารวมๆแล้วมีความสุขมากกว่า ดีกว่าความว่างเปล่าที่อยู่กับบ้านแล้วหายใจทิ้งไปวันๆ' เพราะอย่างน้อยรายได้อาจจะไม่ใช่ตัวแปรสำคัญ แต่เงินในบัญชีไม่ลดลง และยังพบอีกว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ชอบที่จะคุยกับคนรุ่นใหม่มากกว่าคนในวัยเดียวกัน เพราะอยากจะรู้ว่าคนรุ่นใหม่เขาคุยอะไรกัน องค์กรหลายๆองค์กรส่วนใหญ่ชอบคิดว่าการอบรมผู้สูงอายุจะเป็นเรื่องยากและใช้เวลานาน แท้ที่จริงแล้วถึงผู้สูงอายุจะใช้เวลาเรียนรู้นานแต่ก็เรียนรู้ได้ ดังนั้น องค์กรต้องปรับกฎเกณฑ์ให้เข้ากับผู้สูงอายุ ผมยอมรับว่าในช่วงแรกๆจะต้องปรับตัว เมื่อเวลาผ่านไป มีหลายๆ องค์กรที่อยากจะได้ผู้สูงอายุเข้ามาช่วยงานเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการประเมินของพนักงานผู้สูงวัยจะต้องได้สิทธิเท่าเทียม แต่จะต้องอธิบายด้วยเหตุและผลว่าทำไมผู้สูงอายุจึงจำเป็นต้องได้รับสิทธิมากกว่าคนวัยปกติ""
ดร.วิโรจน์ ลักขณาอดิศรได้แนะนำสำหรับผู้สูงอายุที่อยากจะทำงานไว้ว่า""ให้นำกระดาษมาจดว่าวันพรุ่งนี้เราจะทำอะไร แล้วตั้งใจทำภารกิจที่เขียนขึ้นมานั้นให้สำเร็จ พอตกเย็นให้มาดูว่าวันนี้เราทำอะไรสำเร็จไปแล้วบ้าง สำเร็จไปกี่ข้อ ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุมีเป้าหมาย มีคุณค่า มีการงานและภารกิจที่จะต้องทำในทุกๆวัน""
อ.วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ผู้อาวุโสต้นแบบที่มีบทบาทด้านการทำประโยชน์เพื่อสังคมอยู่เสมอ กล่าวว่า ""ในแต่ละปีมีนักศึกษาจีนไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาสร้างรายได้กว่า 36,000 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ปีนี้นักศึกษาจีนกลับลดลง นักวิชาการต่างชาติได้วิเคราะห์สถานการณ์ไว้ว่า 1.เกิดจากปัญหาทางการเมือง 2. คนหนุ่มสาวชาวจีนลดน้อยลง ซึ่งนโยบายของจีนในเรื่องของการมีลูกนับเป็นนโยบายที่ไม่ตอบสนอง หากแต่ในความเป็นจริงกลับพบว่า สังคมจีนมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น จนเป็นเหตุให้การไปเรียนต่อลดลง ถ้าจะให้กล่าวถึงผู้สูงอายุเราต้องเปลี่ยนคำว่า'สงเคราะห์' มาเป็น'สิทธิ' คำว่า 'สิทธิคือศักดิ์ศรี' ในทางพระพุทธศาสนาก็คือความเมตตา ส่วนคำว่า 'การไม่เป็นภาระ'เป็นคำที่ดีมาก ดังนั้นจึงขอเสนออีกคำหนึ่งว่า 'ตัวเองเป็นภาระกับตัวเราเองหรือเปล่า' เราต้องเคลียร์ภาระในตัวเราเองก่อนว่าตลอดชีวิตของเราทำอะไรมาบ้าง ขงจื้อได้สอนถึงปรัชญาชีวิตในแต่ละช่วงวัยไว้ว่า ช่วงอายุ 1-15 ปี เป็นช่วงเริ่มการศึกษา ช่วงอายุ 15-30 ปี เป็นวัยแห่งการศึกษา อายุ 30-40 ปี จะต้องรู้ตัวเราเองว่าต้องการจะเป็นอะไร ชีวิตต้องมั่นคงช่วงอายุ50 ปี ต้องรู้ชะตาฟ้า หมายถึง ควรจะรู้ว่าตัวเรามีศักยภาพแค่ไหน เพียงใด ชีวิตได้ผ่านได้พบเจออะไรมาแล้วบ้าง แล้วจะเพิ่มศักยภาพนั้นได้อย่างไรเมื่อชีวิตเดินทางสู่วัย 60 ปี ซึ่งในช่วงวัยนี้จักต้องเป็นผู้รู้รอบด้าน ฟังอะไรแล้วรู้ที่มาที่ไปและช่วงอายุ 70 ปี จะต้องใช้ชีวิตได้อย่างไม่มีอะไรติดขัดในใจเลย เพราะผ่านมาหมดแล้ว ส่วนศาสนาฮินดู ได้บอกไว้ว่า ชีวิตของวรรณะพราหมณ์ แบ่งออกเป็น 4 ขั้นดังนี้ อายุ 1-25 ปี คือวัยแห่งการศึกษา อายุ 26-50 ปี คือวัยแห่งการครองเรือน การมีครอบครัว ซึ่งอายุ 1-50 ปีนี้ เราเรียกว่าอยู่ในช่วงของโลกียธรรม สำหรับอายุ 51-60 ปี คือวัยของการหาความจริงของชีวิต และอายุ 61 ปีขึ้นไป คือวัยของผู้แสวงหาธรรม หาความพ้นทุกข์ ดังนี้ อายุ 51 ปีขึ้นไปจึงจัดอยู่ในช่วงของธรรมะแบบศาสนาฮินดูนั่นเอง""
หากผู้สูงอายุท่านใดประสงค์จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ www.kid-mai.comหรือส่งประวัติมาที่ โครงการอัศวินผมขาว วงเล็บมุมซองว่า ""สมัครโครงการอัศวินผมขาว""เลขที่ 1191 ซอยอารีย์ 1 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม. 10400 ติดตามกิจกรรมและเกร็ดความรู้ต่าง ๆ รวมไปถึงการแบ่งปันสาระความรู้ที่ดีและมีประโยชน์ ได้ที่เพจKid-Mai by Dr.Veeranut หรือไลน์@ dr.veeranutและเว็บไซต์ www.kid-mai.com
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit