สถาบันอาหาร เดินหน้ายกระดับมาตรฐานอาหาร “รสไทยแท้” สำรวจเพิ่มอีก 5 เมนูใหม่ เปิดรับร้านอาหาร-โรงงานร่วมโครงการ

17 Nov 2017
สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดให้ผู้ประกอบการร้านอาหารและโรงงานอุตสาหกรรมรวม 80 ราย ยื่นขอรับคำปรึกษาและขอรับเครื่องหมาย ""รสไทยแท้"" จาก 13 เมนูที่กำหนดมาตรฐานไปเมื่อปีที่แล้ว และเพิ่มอีก 5 เมนูใหม่ในปีนี้ เดินหน้าเผยแพร่ความรู้เรื่องมาตรฐานอาหาร ""รสไทยแท้"" และมาตรฐานการจัดการอาหารปลอดภัย คาดมีบุคลากรในแวดวงอุตสาหกรรมอาหารได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 1,000 ราย
สถาบันอาหาร เดินหน้ายกระดับมาตรฐานอาหาร “รสไทยแท้”  สำรวจเพิ่มอีก 5 เมนูใหม่ เปิดรับร้านอาหาร-โรงงานร่วมโครงการ

นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในปี 2561 นี้ สถาบันอาหารได้รับงบประมาณจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ในการดำเนินงานโครงการ ""ยกระดับมาตรฐานรสไทยแท้อุตสาหกรรมอาหารไทยในตลาดโลก (Authentic Thai Food For the World)"" เพื่อยกระดับคุณภาพการผลิตอาหารในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการอาหารของไทยให้มีคุณภาพปลอดภัยและมีคุณค่าโภชนาการที่เหมาะสม รักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของอาหาร ""รสไทยแท้"" โดยการให้การรับรองมาตรฐาน ""รสไทยแท้"" ให้กับร้านอาหารไทย และผลิตภัณฑ์อาหารจากโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าให้แก่อาหารไทยสู่ผู้บริโภคทั่วโลก อันเป็นการส่งเสริมธุรกิจบริการร้านอาหารไทย และยกระดับอาหารไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลอย่างต่อเนื่องและกว้างขวางขึ้น

""โครงการดังกล่าวมีแนวทางการทำงานที่ต่อเนื่องจากปีที่แล้วที่ได้กำหนดมาตรฐานอาหาร ""รสไทยแท้"" ไว้แล้ว 13 เมนู แบ่งเป็น อาหารคาว 11 เมนู ได้แก่ ส้มตำไทย ผัดไทย กะเพราหมู ต้มยำกุ้งน้ำใส ต้มยำกุ้งน้ำข้น มัสมั่นไก่ สะเต๊ะไก่ ลาบหมู ต้มข่าไก่ พะแนงเนื้อ แกงเขียวหวานไก่ และอาหารหวาน 2 เมนู ได้แก่ ทับทิมกรอบ และข้าวเหนียวมูนมะม่วงน้ำดอกไม้ ในปีนี้จะเพิ่มอีก 5 เมนู ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจความต้องการในการกำหนดเมนูใหม่ โดยการสอบถามและสัมภาษณ์ร้านอาหารในประเทศและต่างประเทศจำนวน 40 ร้าน เน้นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ คาดว่าจะทราบผลภายใน 1 เดือน หลังจากนั้นสถาบันอาหารจะได้ร่วมกำหนดสูตรกับผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านอาหารไทยในการปรุงและทดสอบโดยการชิมและดมกลิ่น และผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์โดยใช้เครื่อง Electronic nose และ Electronic tongue มาช่วยในการตรวจวัดคำนวณค่ากลิ่นรส และรสชาติค่าความเผ็ด ความเค็ม ความหวาน ความเปรี้ยว และอูมามิ เพื่อรวบรวมฐานข้อมูลใช้เป็นค่ามาตรฐานในการอ้างอิงจัดทำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้การรับรองมาตรฐานให้กับผลิตภัณฑ์อาหารไทยที่ส่งออก ตลอดจนเมนูอาหารที่ให้บริการในร้านอาหารไทยทั่วโลก โดยจัดพิมพ์เป็นคู่มืออ้างอิงมาตรฐาน ""รสไทยแท้"" พร้อมจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์เผยแพร่ต่อไป""

นายยงวุฒิ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรมให้คำปรึกษา และพัฒนาผู้ประกอบการในการผลิตอาหารให้ตรงตามมาตรฐานที่กำหนด สำหรับผู้ประกอบการอาหารและเครื่องดื่มที่มีโรงงานผลิตอาหารหรือร้านอาหารเป็นของตัวเองรวม 80 ราย แบ่งเป็นร้านอาหาร 30 ราย โรงงานอุตสาหกรรมอาหาร 50 ราย โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับคำปรึกษาด้านวัตถุดิบ รสชาติอาหาร เทคนิคการปรุง กระบวนการควบคุมคุณภาพ (Authentic of Thai Food) คำปรึกษาด้านการจัดการวัตถุดิบหรือการจัดการคลังสินค้าหรือการจัดการเพิ่มประสิทธิภาพ ฝึกอบรมบุคลากรให้เข้าใจในการจัดการวัตถุดิบหรือการจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งนี้ในภาพรวมคาดว่าจะมีบุคลากรในแวดวงอุตสาหกรรมอาหารได้รับการอบรมความรู้เรื่องมาตรฐาน ""รสไทยแท้"" และสุขลักษณะที่ดีในการปรุงอาหารไม่น้อยกว่า 1,000 ราย

โดยสถาบันอาหารจะสนับสนุนงบประมาณสำหรับการตรวจวิเคราะห์ให้ผู้เข้าร่วมโครงการรายละ 1 ผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้เป็นการตรวจวิเคราะห์คุณภาพตามมาตรฐานรสไทยแท้ ตรวจวิเคราะห์ด้านความปลอดภัยในอาหาร และตรวจรับรองมาตรฐานอาหารไทย""รสไทยแท้"" มีระยะเวลาในการดำเนินโครงการรวม 6 เดือน(มกราคม – มิถุนายน 2561) สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณกอบกาญจน์ และคุณณรงค์ฤทธิ์ โทร.0 2422 8688 ต่อ 2452, 2102, 2601 E-mail : [email protected], [email protected] หรือดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.nfi.or.th

HTML::image( HTML::image( HTML::image(