กรมประมงตบเท้าเข้าร่วมงานวันเกษตรแห่งชาติ ประจำปี 61 ชูเทคโนโลยี 4.0 “ธนาคารปูไข่โซล่าเซลล์”

29 Jan 2018
อาชีพเกษตรกรรมในประเทศไทย ถือเป็นอาชีพสำคัญที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยมาเป็นเวลานาน ประเทศไทยจึงได้มีการจัดงานวันเกษตรแห่งชาติขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการรำลึกถึงความสำคัญของการเกษตรกรรม และเพื่อสนับสนุนการส่งเสริมอาชีพของเกษตรกรไทย
กรมประมงตบเท้าเข้าร่วมงานวันเกษตรแห่งชาติ ประจำปี 61 ชูเทคโนโลยี 4.0 “ธนาคารปูไข่โซล่าเซลล์”

ดร.อดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า งานวันเกษตรแห่งชาติประจำปี 2561 นี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้น้อมนำศาสตร์ของพระราชามาปรับใช้ร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อพัฒนาการประกอบอาชีพเกษตรกรรมทั้งด้านการเกษตร ปศุสัตว์ และประมง โดยในส่วนของกรมประมงได้นำผลงานที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนหรือปรากฏการณ์ภาวะเรือนกระจกมาร่วมจัดแสดงภายในงานครั้งนี้ด้วย นั่นก็คือธนาคารปูไข่โซล่าเซลล์หรือธนาคารปูไข่คาร์บอนต่ำ

ธนาคารปูไข่โซล่าเซลล์ เกิดมาจากแนวความคิดของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมประมง โดยเริ่มมาจากการจัดทำธนาคารปูไข่ เพื่อแก้ไขปัญหาชาวประมงไม่สามารถทำการประมงปูม้าได้เนื่องจากทรัพยากรปูม้ามีจำนวนลดน้อยลง รวมถึงผลกำไรไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ทางศูนย์ศึกษาฯ จึงได้มีแนวความคิดที่จะอนุรักษ์ฟื้นฟูพันธุ์ปูม้าร่วมไปกับการช่วยชาวประมงให้สามารถทำประมงปูม้าเพื่อสร้างอาชีพต่อไปได้ โครงการธนาคารปูไข่จึงเกิดขึ้นมาภายใต้การบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจปูม้า ตลอดจนชาวประมงพื้นบ้านและประมงเชิงพาณิชย์ ปัจจุบันชาวประมงพื้นบ้านบริเวณอ่าวคุ้งกระเบนสามารถทำการประมงปูม้าได้อย่างต่อเนื่อง หากแต่ต้องยอมรับว่าการทำธนาคารปูม้าในโรงเรือนถึงแม้ว่าจะสามารถช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนปูม้าได้ระดับหนึ่ง แต่ก็มีส่วนร่วมในการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปสะสมในชั้นบรรยากาศ ประมาณ 1,412.55 กิโลกรัม CO2/ปี/ธนาคารปู ซึ่งหากการดำเนินธนาคารปูม้าแบบโรงเรือนมีมากกว่า 100 แห่ง ก็จะปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณ 141,255 กิโลกรัม CO2/ปี ทางศูนย์ศึกษาฯ ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจึงได้เริ่มนำผลศึกษาและทดลองวิจัยการเพาะพันธุ์ปูม้าของกรมประมงมาประยุกต์ร่วมกับเทคโนโลยีพลังงานทางเลือก (โซล่าเซลล์) โดยได้ศึกษาและพัฒนาจนประสบความสำเร็จเป็น "ธนาคารปูไข่โซ่ล่าเซลล์ หรือธนาคารปูไข่คาร์บอนต่ำ "

ปัจจุบันนี้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ กรมประมง และกรมพลังงานทดแทน ได้ร่วมดำเนินโครงการธนาคารปูไข่โซ่ล่าเซลล์ หรือธนาคารปูไข่คาร์บอนต่ำ สำเร็จเรียบร้อยแล้วจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ 1.อ่าวคุ้งกระเบน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ กรมประมง จังหวัดจันทบุรี 2.ชุมชนประมงพื้นบ้าน ม.7 บ้านสนามไชย ต.สนามไชย อ.นายายอาม จ.จันทบุรี 3.โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ม.6 บ้านน้ำแดง ต.บางชัน อ.ขลุง จ.จันทบุรี 4.กลุ่มเกษตรกรบ้านบางชัน ต.บางชัน อ.ขลุง จ.จันทบุรี

นายประจวบ ลีรักษาเกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมประมง กล่าวเพิ่มเติมถึงวัสดุอุปกรณ์และวิธีการเพาะฟักไข่ปูม้าว่า การทำธนาคารปูไข่โซล่าเซลล์จะต้องใช้วัสดุอุปกรณ์หลักๆ ดังนี้ 1. ถังพลาสติก เชื่อมต่อท่อน้ำติดกันระดับความสูงสามในสี่ส่วนของถัง ส่วนที่ก้นถังเจาะรูเพื่อใช้ระบายน้ำ 2. แผงโซล่าเซลล์ (Solar Cell Panel) เพื่อเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้า 3. ตู้ควบคุมการจ่ายกระแสไฟฟ้า สำหรับนำไฟฟ้าเพื่อใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ปั๊มลม ขนาด 150 W 220 V 4. แบตเตอรี่ ขนาด 150 แอมป์-ชั่วโมง (Ah) จำนวน 4 ลูก สำหรับสำรองกระแสไฟฟ้าจากแผงโซล่าเซลล์ ผ่านทางอุปกรณ์ประจุไฟฟ้า 5.ปั๊มลม สำหรับให้อากาศในถังฟักไข่ จำนวน 1 ชุด หลังจากที่เตรียมวัสดุอุปกรณ์ครบเรียบร้อยแล้ว ด้านการเพาะฟักไข่ปูม้าที่ดำเนินการร่วมกับชาวประมงจะเริ่มดำเนินการจากการรวบรวมปูม้าไข่นอกกระดองจากชาวประมงพื้นบ้านและนำมาปัดไข่ปูม้าให้หลุดออกจากจับปิ้ง โดยใช้แปรงขนนุ่มๆ แปรงเบาๆ จากนั้นนำไข่มาทำความสะอาด แล้วนำไปฟักในถังพลาสติกที่จัดเตรียมไว้ โดยใส่ไข่ปูม้าปริมาณ 5 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร และคืนปูม้าแก่ชาวประมง หลังจากนั้นนำไข่ปูม้าที่ทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว ไปฟักในถังที่มีการให้อากาศตลอดเวลา โดยใช้พลังงานไฟฟ้าจากแผงโซล่าเซลล์แทนการใช้กระแสไฟฟ้าปกติเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ธนาคารปูไข่โซ่ล่าเซลล์นอกจากจะเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจแก่ชาวประมงในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรปูม้าที่จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ให้เกิดความยั่งยืนแล้ว ยังสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการใช้พลังงานไฟฟ้าสำหรับเครื่องให้อากาศ และเครื่องสูบน้ำ ประมาณ 26 บาทต่อวัน หรือ 9,490 บาท/ปี/ 1ธนาคาร ให้กับการทำธนาคารปูไข่อีกด้วย ด้านสิ่งแวดล้อมธนาคารปูไข่โซ่ล่าเซลล์สามารถช่วยลดปัญหาการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้วันละ 3.87 กิโลกรัมคาร์บอน/ธนาคารปู/วัน หรือ 1,412.55 กิโลกรัมคาร์บอน/ธนาคารปู/ปี ดังนั้นนอกจากชื่อธนาคารปูไข่โซ่ล่าเซลล์ที่เรารู้จักกันแล้ว จึงถูกรู้จักกันอีกชื่อนั่นก็คือ "ธนาคารปูสีเขียว"

ปัจจุบันการใช้พลังงานทางเลือกอย่างโซล่าเซลล์ได้รับความนิยมในวงการต่างๆ อย่างแพร่หลาย ส่งผลให้มีการพัฒนาระบบโซล่าเซลล์ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการสร้างระบบแบตเตอรี่ที่เก็บสะสมกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในกลางวันมาใช้ในช่วงกลางคืน ซึ่งในปัจจุบันธนาคารปูไข่แห่งนี้ได้มีการพัฒนามาใช้กระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน ธนาคารปูไข่โซล่าเซลล์จึงนับเป็นการต่อยอดเทคโนโลยีที่สามารถนำไปพัฒนาภาคการประมงของประเทศได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว สำหรับผู้สนใจอยากชมเทคโนโลยีปูไข่โซล่าเซลล์ สามารถชมได้ที่งานวันเกษตรแห่งชาติประจำปี 2561 โดยงานดังกล่าวจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2561 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

HTML::image( HTML::image( HTML::image(