อีสท์ วอเตอร์เผยความคืบหน้าโครงการบริหารจัดการแหล่งน้ำ จับมือโครงการชลประทานระยองเชื่อมโยงข้อมูลน้ำเป็นระบบ

30 Jan 2018
อีสท์ วอเตอร์ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดำเนินโครงการบริหารจัดการแหล่งน้ำ เร่งหาแนวทางการบริหารจัดการน้ำต้นทุนให้มีศักยภาพการใช้งานสูงสุด โดยเชื่อมโยงข้อมูลแหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดระยอง ตลอดจนแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพและปรับปรุงระบบส่งน้ำชลประทานรองรับพื้นที่ EEC คาดทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์
อีสท์ วอเตอร์เผยความคืบหน้าโครงการบริหารจัดการแหล่งน้ำ จับมือโครงการชลประทานระยองเชื่อมโยงข้อมูลน้ำเป็นระบบ

บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ เตรียมก้าวสู่การเป็น Smart Water 4.0 พร้อมรับความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉพาะในส่วนการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และอุตสาหกรรม ที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอีกมากกว่า 200 ล้าน ลบ.ม./ปี ในอีก 10 ปีข้างหน้า จากนโยบายพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดย นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อีสท์ วอเตอร์ ได้เปิดเผยว่า อีสท์ วอเตอร์ ได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดทำโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการ ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลแหล่งน้ำทั้งหมดในภาคตะวันออกของกรมชลประทานและอีสท์ วอเตอร์อย่างบูรณาการ เพื่อให้ทราบสถานะของน้ำที่มีอยู่ การขาดแคลนน้ำที่มีหรือคาดว่าจะมี และนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำในปัจจัยต่างๆ อาทิ ปัจจัยด้านความมั่นคงของปริมาณน้ำต้นทุนที่ผันแปรตามช่วงเวลาและฤดูกาล ปัจจัยด้านค่าพลังงาน รวมถึงปัญหาการแย่งน้ำจากการใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆ เป็นต้น เพื่อหาแนวทางเลือกในการวางแผนการผันน้ำได้อย่างเหมาะสมตามเงื่อนไขที่กำหนด สามารถลดพลังงานในการผันน้ำและให้บริการได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

ผศ.ดร.ณัฐ มาแจ้ง จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ชี้แจงว่า สำหรับการดำเนินงานในเฟสแรกเป็นการพัฒนาแบบจำลองการบริหารแหล่งน้ำต้นทุนและการสูบจ่ายน้ำหรือ EWMS ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อปีที่ผ่านมาและเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือและถูกต้องแม่นยำของข้อมูลจึงได้ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายระบบติดตามสถานการณ์น้ำและคาดการณ์ ในเฟสที่ 2 ต่อเนื่อง โดยติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดต่างๆ ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน อาทิ ค่าระดับน้ำ และกล้อง CCTV เพิ่มเติมในตำแหน่งต่างๆ ที่มีความจำเป็นและยังไม่ได้ดำเนินการในปัจจุบัน เพื่อให้สามารถติดตามสถานการณ์น้ำจากแหล่งน้ำสำคัญในพื้นที่ภาคตะวันออกได้อย่างแม่นยำ และทำการเชื่อมโยงเข้ากับโครงข่ายการตรวจวัดข้อมูลระบบท่อส่งน้ำของอีสท์ วอเตอร์ เพื่อสนับสนุนการประมวลผลของระบบ EWMS ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ด้านการศึกษาสภาพการใช้น้ำพบว่า การใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองใหญ่มีอัตราการใช้น้ำเฉลี่ยต่อพื้นที่การเกษตรอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างสูง โดยมีปริมาณการใช้น้ำมากกว่า 2,200 ลบ.ม.ต่อไร่ ดังนั้น การดำเนินงานในเฟสที่ 2 นอกจาการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดแล้วยังศึกษาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่โครงการชลประทานบ้านค่ายจังหวัดระยอง (ฝายบ้านค่าย) เป็นพื้นที่นำร่องควบคู่ไปด้วย โดยร่วมกับกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมการวางแผนการเพาะปลูกพืชให้สามารถใช้น้ำน้อยลงและสามารถเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น เน้นการรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อการจำหน่ายผลผลิตร่วมกัน

นายจิรายุทธ แจ้งเพิ่มเติมว่า "ปัจจุบันความก้าวหน้าโครงการอยู่ที่ 39% เป็นไปตามแผนงานโดยกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2561 โดยล่าสุดทีมงานโครงการบริหารจัดการแหล่งน้ำได้เข้าพบผู้อำนวยการโครงการชลประทานระยอง เพื่อรายงานผลการประเมินระบบชลประทานตลอดแนวคลองส่งน้ำและอาคารชลประทาน ประกอบด้วยการสำรวจสภาพของคลองส่งน้ำคันคลองตะกอนและวัชพืชขวางทางน้ำและการสำรวจอาคารชลประทานสะพานและท่อลอดบริเวณถนนคันคลองทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของคลองส่งน้ำสายใหญ่ของพื้นที่โครงการฯ ฝายบ้านค่าย"

โครงการบริหารจัดการแหล่งน้ำนี้ถือเป็นความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ระหว่างอีสท์ วอเตอร์ และกรมชลประทานที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการชลประทาน ช่วยให้แหล่งน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ มีปริมาณคงเหลือเพิ่มขึ้น ลดพลังงานในการผันน้ำจากแหล่งที่ห่างไกลและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ตลอดจนช่วยขับเคลื่อนจีดีพีให้กับประเทศซึ่งเมื่อโครงการนี้ดำเนินการแล้วเสร็จจะเป็นประโยชน์กับผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง

HTML::image( HTML::image( HTML::image(