ผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ไทยสำหรับปี 2560 ถือได้ว่าอ่อนแอลง แต่ทั้งนี้ยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับการคาดการณ์ของฟิทช์ ภาคธนาคารพาณิชย์ยังคงเผชิญกับความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ในปีที่ผ่านมาและปัจจัยดังกล่าวได้ส่งผลกระทบกับธนาคารบางแห่งในด้านการผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้รายใหญ่ เช่นในกรณีของ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้กลุ่มลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ยังคงมีอัตราส่วนการผิดนัดชำระหนี้ (delinquency) อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงต่อเนื่อง ดังนั้นสัดส่วนค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองหนี้สูญฯ จึงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 42% ของกำไรจากการดำเนินการก่อนการตั้งสำรองหนี้สูญฯ (pre-provision operating profit) เทียบกับ 37% ในปี 2559 และ 24.2% ในปี 2557 ด้วยค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองหนี้สูญฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (net interest margin) อยู่ในระดับทรงตัว ส่งผลให้อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (return on equity) เฉลี่ยของภาคธนาคารพาณิชย์ปรับตัวลดลงเป็น 10.3% จาก 11.9% ในปีก่อนหน้า
ฟิทช์เชื่อว่าความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ของภาคธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะใกล้ที่จะผ่านพ้นช่วงที่แย่ที่สุดแล้ว (bottoming out) เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานเริ่มมีการคลี่คลายลงบ้าง ทั้งนี้ฟิทช์คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะยังคงเติบโตต่อเนื่อง (GDP Growth) ในระดับเกือบ 4% แม้ว่าอัตราดังกล่าวอาจเป็นระดับที่ต่ำกว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอดีตและอาจเป็นอุปสรรคในการเติบโตสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์อยู่บ้าง แต่อย่างไรก็ตามอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในระดับนี้น่าจะเพียงพอที่ช่วยให้อัตราการผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้ธนาคารชะลอตัวลงและช่วยให้ธนาคารสามารถรักษาระดับรายได้ให้มีความเสถียรภาพต่อเนื่อง
ในขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ไทยได้เพิ่มความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งสะท้อนได้จากการชะลอตัวอย่างมากของอัตราการเติบโตของสินเชื่อในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และน่าจะช่วยลดความเสี่ยงด้านคุณภาพสินเชื่อลงได้บ้าง จากผลการสำรวจภาวะและแนวโน้มการอนุมัติสินเชื่อที่จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าธนาคารส่วนใหญ่มีมาตราฐานการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้นและธนาคารต่างๆยังมีการใช้การค้ำประกันสินเชื่อสำหรับกลุ่มลูกค้า SME เพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนในภาคธุรกิจ SME
นอกจากนี้ความผันผวนในกลุ่มลูกหนี้รายย่อย (หรือลูกหนี้บุคคล) น่าจะเริ่มมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นบ้าง แต่ทั้งนี้ด้วยอัตราส่วนหนี้สินครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ดังนั้นกลุ่มลูกหนี้รายย่อยจึงยังคงเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อภาคธนาคารพาณิชย์ แต่อย่างไรก็ตามการเติบโตของสินเชื่อรายย่อยได้ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งอย่างน้อยนับว่าเป็นสัญญาณที่ดี ทั้งนี้อัตราส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ปรับตัวขึ้นถึงจุดสูงสุดที่ระดับ 81% ในปี 2558 แต่ได้ปรับตัวลดลงมาในระดับ 78% ในไตรมาสที่ 3 ในปี 2560
อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Core Equity Tier 1 ratios) ของธนาคารพาณิชย์ไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2560 แม้ต้องเผชิญแรงกดดันในด้านรายได้ยู่บ้าง และน่าจะช่วยให้ธนาคารสามารถรองรับความเสี่ยงจากผลกระทบของการปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานบัญชี IFRS 9 ที่จะมีผลบังคับใช้ใช้ในปี 2562 และรองรับความเสี่ยงจากภาวะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่รุนแรงได้ นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่สุด 5 แห่งของประเทศไทยมีความพร้อมที่จะปฏิบัติตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้สถาบันการเงินที่มีบทบาทสำคัญในระบบ (domestic systemically important banks) ต้องมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของเพิ่มอีก 0.5% นอกเหนือจากเกณฑ์ปกติโดยเริ่มบังคับใช้เดือนมกราคม ปี 2562
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit