สจล. ขานรับนโยบายชาติ ผนึกญี่ปุ่น เตรียมเปิดโรงเรียนเตรียมเทคโนโลยี ปั้นอาชีวะหัวกะทิ 5 สาขา ตอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย

31 Jan 2018
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษาเพื่อความยั่งยืน เตรียมเปิดโรงเรียนเตรียมเทคโนโลยี ด้วยการสร้างหลักสูตร "ยุววิศวกร" โดยใช้ต้นแบบของ KOSEN ประเทศญี่ปุ่น (KOSEN Vocational Demonstration School for 21th century) เปิดรับนักเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เข้าศึกษาต่อที่ สจล. ระยะเวลา 5 ปี เริ่มเปิดรับนักเรียนรุ่นแรก ปีการศึกษา 2561 นำร่อง 1 สาขาวิชา จากนั้นจะเปิดเพิ่มอีก 4 สาขาวิชา ในปีการศึกษา 2562 รวมเป็น 5 สาขาวิชา สาขาวิชาละ 25 คน รวม 125 คน ได้แก่ 1. วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 2. วิศวกรรมไฟฟ้า 3. ช่างวิศวกรรม 4. วิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ เกี่ยวกับระบบเครื่องกลอัตโนมัติ เช่น หุ่นยนต์ หรือแขนกลในงานอุตสาหกรรม และ 5. วิศวกรรมยานยนต์ ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมแรงงานใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และสาขาที่รองรับการพัฒนาประเทศสู่ Thailand 4.0 พร้อมแนะมหาวิทยาลัยพัฒนาหลักสูตรบูรณาการข้ามศาสตร์ เพื่อสร้างที่มีความเป็นเลิศสามารถทำงานร่วมกับบุคลากรหลากหลายสาขาอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สจล. ขานรับนโยบายชาติ ผนึกญี่ปุ่น เตรียมเปิดโรงเรียนเตรียมเทคโนโลยี  ปั้นอาชีวะหัวกะทิ 5 สาขา ตอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการมอบนโยบายแนวทางยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย แก่สภาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ระบุว่าขณะนี้รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ได้เร่งดำเนินนโยบายเพื่อยกระดับคุณภาพบัณฑิตไทย ให้มีความรู้และความสามารถสอดรับความต้องการของประเทศ ซึ่งพบว่าขณะนี้ประเทศไทยยังขาดแคลนวิศวกรผู้เชี่ยวชาญทักษะขั้นสูง ในหลายสาขา อาทิ วิศวกรรมระบบราง วิศวกรรมอากาศยาน และวิศวกรรมด้านหุ่นยนต์สมองกล และ AI เป็นต้น ดังนั้น สถาบันการศึกษาต้องพัฒนาหลักสูตรให้สอดรับ เพื่อสร้างบุคลากรป้อนแก่ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งหากมหาวิทยาลัยสามารถสร้างหลักสูตรได้ตรงกับความต้องการ จะได้รับการสนุนงบประมาณในการจัดการเรียนการสอน โดยกลุ่มเป้าหมายในการสนับสนุนการศึกษานั้น ไม่ได้จำกัดแค่สายสามัญ แต่ขณะนี้ได้เน้นให้ความสำคัญกับนักเรียนอาชีวศึกษาด้วย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่สร้างรากฐานและความมั่นคงของประเทศ เพราะมีความรู้ทักษะและความเชี่ยวชาญที่ตรงกับสิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการ ซึ่งนอกจากสนับสนุนการเปิดหลักสูตรพัฒนาศักยภาพผู้เรียนแล้ว จะเร่งผลักดันมาตรฐานเงินเดือนเช่นเดียวกับบัณฑิตมหาวิทยาลัย และการเทียบประสบการณ์ความเชี่ยวชาญให้เป็นวุฒิการศึกษา ระดับปริญญาตรี โท และเอก เพื่อความก้าวหน้าในวิชาชีพอีกด้วย

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า โจทย์ใหญ่ของภาคการศึกษาไทยในขณะนี้ ไม่เพียงต้องเร่งพัฒนาหลักสูตรให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี แต่ขณะเดียวกันยังต้องวางแผนการผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ เพื่อให้ผู้เรียนนำความวิชาความรู้ที่ร่ำเรียนไปเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานและโรดแมปชาติ โดยสิ่งสำคัญแนวทางดังกล่าวต้องขยายผลให้ครอบคลุมนักเรียนทุกกลุ่ม ทั้งสายสามัญและโดยเฉพาะอย่างยิ่งสายอาชีวศึกษา ซึ่งจากข้อมูลกระทรวงศึกษาธิการพบว่าในปีการศึกษา 2559 มีสัดส่วนกว่า 7 แสนคน หรือครึ่งหนึ่งของนักเรียนสายสามัญ นักเรียนกลุ่มนี้จึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการจบออกมา เป็นบุคลากรและกำลังช่วยให้ประเทศเจริญก้าวหน้า ดังนั้น สจล. ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันมีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมศาสตร์ในทุกแขนง จึงดำเนินแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษาเพื่อความยั่งยืน ด้วยการเตรียมเปิดโรงเรียนเตรียมเทคโนโลยี พร้อมสร้างหลักสูตร "ยุววิศวกร" โดยใช้ต้นแบบของ KOSEN ประเทศญี่ปุ่น (KOSEN Vocational Demonstration School for 21th century) เปิดรับนักเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เข้าศึกษาต่อที่ สจล. ระยะเวลา 5 ปี

โดยจะเริ่มเปิดรับนักเรียนรุ่นแรก ปีการศึกษา 2561 นำร่อง 1 สาขาวิชา จากนั้นจะเปิดเพิ่มอีก 4 สาขาวิชา ในปีการศึกษา 2562 รวมเป็น 5 สาขาวิชา สาขาวิชาละ 25 คน รวม 125 คน ได้แก่ 1. วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 2. วิศวกรรมไฟฟ้า 3. ช่างวิศวกรรม 4. วิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ เกี่ยวกับระบบเครื่องกลอัตโนมัติ เช่น หุ่นยนต์ หรือแขนกลในงานอุตสาหกรรม และ 5. วิศวกรรมยานยนต์ ภายใต้ความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่น นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร และกระทรวงแรงงาน เพื่อยกระดับการผลิตกำลังคนระดับอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมแรงงานใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และสาขาที่รองรับการพัฒนาประเทศสู่ Thailand 4.0 เน้นกระบวนการเรียนการสอนแบบใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem–based Learning) การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-Based Learning) การเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการวิจัย (Research – Based Learning) การบูรณาการความรู้ครอบคลุมด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM Education) และการร่วมฝึกปฏิบัติงานกับสถานประกอบการและภาคอุตสาหกรรมด้วย

"นอกจากหลักสูตรยุววิศวกรข้างต้นแล้ว สจล. ยังเปิดหลักสูตรปริญญาตรีต่อเนื่อง แบบเทียบวุฒิความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ทำงาน เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มพูนความรู้และคุณวุฒิที่สูงขึ้น และหลักสูตรพัฒนาบุคลากรครูเพื่อปฏิบัติการสอนตามรูปแบบ KOSEN ด้วย เป็นการตอกย้ำความพร้อมในการพัฒนาศักยภาพนักเรียนอาชีวศึกษาครอบคลุมทุกด้าน ให้กลายเป็นบุคลากรหัวกะทิขับเคลื่อนประเทศไทยให้ยั่งยืน เนื่องจากมีความร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน และมีคณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งทำหน้าที่ผลิตครูอาชีวศึกษามาเกือบสี่ทศวรรษ มีคณะวิศวกรรมศาสตร์ผลิตวิศวกรและบุคลากรภาคอุตสาหกรรมมากว่าห้าทศวรรษ สามารถยกระดับช่างเทคนิคให้มีความรู้และความเชี่ยวชาญ ในการปฏิบัติงานและแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ" ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวเสริมว่า สำหรับการยกคุณภาพระบบการศึกษาไทยในภาพรวมนั้น หลักสูตรการศึกษาจะต้องมีการเชื่อมโยงองค์ความรู้แขนงต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิชาที่ผู้เรียนต้องมีองค์ความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญรอบด้าน ในการประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการปฏิบัติงาน ภายใต้การบูรณาการข้ามศาสตร์ เพื่อสร้างบัณฑิตที่มีความเป็นเลิศ มีมุมมองที่กว้างไกล มีจินตนาการ และสามารถทำงานร่วมกับบุคลากรสาขาอาชีพอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.kmitl.ac.th

สจล. ขานรับนโยบายชาติ ผนึกญี่ปุ่น เตรียมเปิดโรงเรียนเตรียมเทคโนโลยี  ปั้นอาชีวะหัวกะทิ 5 สาขา ตอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย สจล. ขานรับนโยบายชาติ ผนึกญี่ปุ่น เตรียมเปิดโรงเรียนเตรียมเทคโนโลยี  ปั้นอาชีวะหัวกะทิ 5 สาขา ตอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย สจล. ขานรับนโยบายชาติ ผนึกญี่ปุ่น เตรียมเปิดโรงเรียนเตรียมเทคโนโลยี  ปั้นอาชีวะหัวกะทิ 5 สาขา ตอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย