การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) โชว์ความคืบหน้าโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม
สมาร์ทปาร์ค บนพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม
มาบตาพุด จังหวัดระยอง พร้อมเผย
การออกแบบและการจัดสรรพื้นที่โครงการแบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก ได้แก่ พื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่พาณิชยกรรม พื้นที่ระบบสาธารณูปโภค และพื้นที่สีเขียวและแนวกันชน อย่างไรก็ตาม กนอ.ยังได้ออกแบบพื้นที่ให้อยู่ในรูปแบบคลัสเตอร์ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและความต่อเนื่องในการเชื่อมโยงธุรกิจและอุตสาหกรรม พร้อมทั้งกำหนด 9 ยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนพื้นที่นิคมฯสมาร์ทปาร์ค อาทิ Smart Location , Smart High technology industrial New S-curve , Smart Energy building , Smart Security Smart environment ฯลฯทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2564 ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จ พื้นที่ดังกล่าวจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกและแห่งเดียวของอาเซียนที่ขับเคลื่อนทุกขั้นตอนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีอัจฉริยะ
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ตามที่ กนอ.มีแผนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์คบนพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง โดย กนอ. ได้มีการออกแบบพื้นที่โครงการไว้และจัดสรรสัดส่วนการใช้ประโยชน์ที่ดินบนพื้นที่กว่า 1,500 ไร่ ออกเป็น 4 ส่วนหลัก ประกอบด้วย พื้นที่อุตสาหกรรม 723.78 ไร่ พื้นที่พาณิชยกรรม 147.18 ไร่ พื้นที่ระบบสาธารณูปโภค 393.50 ไร่ และพื้นที่สีเขียวและแนวกันชน 236.51 ไร่ ทั้งยังได้มีการแบ่งพื้นที่ให้ลักษณะเป็นกลุ่มในรูปแบบคลัสเตอร์ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและความต่อเนื่องในการเชื่อมโยงธุรกิจและอุตสาหกรรมร่วมกัน โดยแนวคิดในการวางผังแม่บทโครงการ ได้พิจารณาจากข้อจำกัดทางด้านสิ่งแวดล้อม กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย การให้บริการทางพาณิชย์ต่อชุมชน และการให้บริการด้านสาธารณูปโภคแก่โรงงานอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาตั้งพื้นที่ในโครงการ
นายวีรพงศ์ กล่าวต่อว่า เพื่อให้นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค เป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกและแห่งเดียวของอาเซียนที่ขับเคลื่อนทุกขั้นตอนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีอัจฉริยะ พร้อมรองรับโรงงานอุตสาหกรรมกลุ่มเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลที่ชาญฉลาด กนอ.จึงขับเคลื่อนนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์คด้วยยุทธศาสตร์ 9 Smart ได้แก่
- ด้านสถานที่ตั้ง (Smart Location) ที่ตั้งทำเลของนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์คจะมีพื้นที่ติดต่อกับท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด สนามบินอู่ตะเภา และรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ– ระยอง มีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบครัน มีศูนย์กลางทางพาณิชย์ที่ทัยสมัย และเป็นพื้นที่ที่ปราศจากมลพิษ
- ด้านธุรกิจอัจฉริยะและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Smart High technology industrial New S-curve) พื้นที่ของนิคมฯ จะรวบรวมอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงไว้ในที่เดียวกัน เพื่อเป็นต้นแบบในการต่อยอดองค์ความรู้และการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงของประเทศในระยะต่อไป อาทิ อุตสาหกรรมอากาศยาน อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
- ด้านสิ่งก่อสร้างประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Smart Energy building) การออกแบบอาคารต่างๆ ภายในนิคม เพื่อสิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงาน ตามเกณฑ์ข้อบังคับการนิคมอุตสาหรรมเชิงนิเวศ เพื่อให้ทุกอาคารภายในนิคมสามารถใช้พลังงานธรรมชาติได้อย่างเต็มความสามารถมากที่สุด
- ด้านระบบความปลอดภัย (Smart Security) โดยนำเอาเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัยขั้นสูงมาใช้ อาทิ ระบบสแกนใบหน้าและป้ายทะเบียนของรถทุกคันที่เข้าออกภายในนิคม
- ด้านไลฟ์สไตล์ที่สมาร์ททุกรูปแบบ (Smart Social Life) การจัดให้มีศูนย์ประชุมและพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดของผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ที่ทันสมัย เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของภาคธุรกิจ รวมถึงพื้นที่สาธารณะเพื่อการสันทนาการ การพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนและแรงงานในพื้นที่อุตสาหกรรมดีขึ้น
- ด้านสัญจรและคมนาคม (Smart Transportation) โครงการได้ออกแบบระบบการสัญจรที่สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องความอัจฉริยะในด้านพลังงาน และการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยการจัดระบบที่จอดรถอัตโนมัติในจุดที่ทุกคนสะดวกในการเข้าถึง และใช้บริการขนส่งภายในของโครงการ ซึ่งระบบขนส่งภายในโครงการทั้งหมดจะเป็นระบบไฟฟ้า เพื่อสามารถควบคุมได้ด้วยเทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัย
- การเชื่อมโยงทุกสิ่งสู่ระบบอินเทอร์เน็ต (Smart I.o.T) จัดให้มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุมทุกพื้นที่ในนิคม รวมทั้ง การนำเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตมาเชื่อมอุปกรณ์กับเครื่องมือต่าง ๆ เช่น เครื่องจักรในกระบวนการผลิต รถยนต์ อุปกรณ์สำนักงาน เครื่องใช้ในที่พักอาศัย เป็นต้น
- ด้านสาธารณูปโภค (Smart infrastructure) ออกแบบให้การวางงานระบบสาธารณูปโภคทั้งหมดอยู่ภายในอุโมงค์ใต้ดิน เพื่อความเป็นระเบียบ และเกิดทัศนียภาพภายในสวยงาม
- เมืองสีเขียว (Smart environment)t คือการจัดให้มีพื้นที่สีเขียวในทุกพื้นที่ของนิคม ซึ่งพื้นที่สีเขียวจะอยู่โดยรอบของทุกคลัสเตอร์อุตสาหกรรม และนิคมฯแห่งนี้ยังจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบในการพัฒนาเชิงนิเวศให้กับนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั่วประเทศอีกด้วย
ทั้งนี้ การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค จะใช้งบก่อสร้างประมาณ 2 พันล้านบาท ซึ่งจะเป็นนิคมฯ ต้นแบบที่มีระบบสาธารณูปโภคเพียบพร้อม ลดการใช้รถยนต์ รวมทั้งอาคารต่างๆ จะต้องได้มาตรฐานระดับสากล โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบ การทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งกนอ.คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2564 อย่างไรก็ตาม หากโครงการดังกล่าวดำเนินการแล้วเสร็จ นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค จะเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกและแห่งเดียวของอาเซียนและประเทศไทยที่ขับเคลื่อนทุกขั้นตอนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีอัจฉริยะ นายวีรพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจรายละเอียด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถนนนิคมมักกะสัน กรุงเทพฯ โทร. 0 2253 0561 หรืออีเมล[email protected]