TCDC ร่วมกับ สสส. เปิดตัว “สนามเด็กเล่นสุดครีเอทีฟ” ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ต้นแบบสนามเด็กอัจฉริยะ ดึงเด็กออกจากจอสู่โลกความเป็นจริง

31 Jan 2018
ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดตัว "สนามเด็กเล่นสุดครีเอทีฟ" ที่มาพร้อม 3 ต้นแบบสนามเด็กเล่นได้แก่ "โคเพลย์อิ้ง เพลย์กราวน์" (Co-Playing Playground) "แอคทีฟเลิร์นนิ่งเพลย์กราวน์" (Active Learning Playground) และ "เฮ้าส์โฮลด์แฮ็ค" (Household Hack) โดย 3 นวัตกรรมดังกล่าวถูกออกแบบเพื่อต่อยอดโครงการ "แอคทีฟ เพลย์" ของ สสส. ที่เน้นการกระตุ้นการเรียนรู้และการพัฒนาสมรรถภาพด้านร่างกายในเด็กวัย 6 - 14 ปี ทั้งในพื้นที่ชุมชน โรงเรียน และที่บ้าน ซึ่งเริ่มนำร่องทดสอบในย่านสร้างสรรค์เจริญกรุง ทั้งนี้นวัตกรรมดังกล่าว จะถูกนำไปพัฒนา และขยายผลไปยังชุมชน และโรงเรียนอื่นๆ ต่อไป
TCDC ร่วมกับ สสส. เปิดตัว “สนามเด็กเล่นสุดครีเอทีฟ” ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ต้นแบบสนามเด็กอัจฉริยะ ดึงเด็กออกจากจอสู่โลกความเป็นจริง

ผู้สนใจสามารถเยี่ยมชมต้นแบบนวัตกรรม "แอคทีฟ เพลย์" ได้ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2561 ตั้งแต่วันนี้ - 4 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 11.00 - 19.00 น. ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.bangkokdesignweek.com

นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช รักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ กล่าวว่า การพัฒนาย่านพื้นที่สร้างสรรค์ เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของการจัดเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2561 (Bangkok Design Week 2018) โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาย่านสร้างสรรค์ให้เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการใช้ประโยชน์ของชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ร่วมกันพัฒนา 3 ต้นแบบสนามเด็กเล่นสำหรับชุมชนในโครงการ "แอคทีฟเพลย์" ของ สสส. โดยทั้ง 3 ต้นแบบประกอบด้วย

1. โคเพลย์อิ้ง เพลย์กราวน์ (Co-Playing playground) การปรับปรุงสนามเด็กเล่นให้เอื้อต่อการเล่นร่วมกันของเด็กและเยาวชนในชุมชน โดยเน้นการออกแบบในลักษณะที่เด็กเห็นแล้วอยากเล่น อยากขยับตัว อยากออกแรง อย่าง "บ้านไม้ของเล่น" ที่ถูกแบ่งออกเป็นโซนต่างๆ อาทิ โซนวิ่งออกกำลังแบบวงล้อ เพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อขาและการทรงตัว โซนชู้ตบาสเกตบอลให้ลงห่วง เพื่อฝึกกล้ามเนื้อแขน ที่ออกแบบมาใน 2 ระดับความสูง เพื่อรองรับการเล่นสำหรับเด็กโต และเด็กเล็ก ฯลฯ

2. แอคทีฟเลิร์นนิ่งเพลย์กราวน์ (Active Learning Playground) การพัฒนาสื่อการเรียนรู้ของครูผู้สอนที่เหมาะสมในแต่ละวิชา โดยเน้นการเรียนรู้ในในรูปแบบแอคทีฟ เลิร์นนิ่ง (Active Learning) ที่ช่วยให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้อย่างสนุก มีความกระตือรือร้น ควบคู่ไปกับการมีพัฒนาการของสมองที่โลดแล่นอย่างต่อเนื่อง อาทิ สายรัดข้อมือแก้โจทย์คณิตคิดเร็ว ที่ออกแบบให้มีช่องพลาสติกใส สำหรับใส่คำตอบหรือโจทย์คำนวณ ที่มาพร้อมกับสีสันสดใส และไม่ระคายผิว ฯลฯ

3. เฮ้าส์โฮลด์ แฮ็ค (Household Hack) การประยุกต์ใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน ที่ทำให้เรื่องงานบ้านกลายเป็นการเล่นที่สนุกสนาน อาทิ ถังขยะซุปเปอร์ชู้ต การฝึกกระตุ้นกล้ามเนื้อขา จากการกะน้ำหนักเท้าเพื่อเหยียบฝาถังให้เปิด พร้อมกับโยนวัตถุบนฝาให้ลงปากท่อที่ติดไว้ ไม้กวาดไดร์ฟกอล์ฟ การกระตุ้นกล้ามเนื้อแขนผ่านการกวาดลูกกอล์ฟให้ลงหลุม บนที่ตักขยะ ฯลฯ

ทั้งนี้ 3 ต้นแบบดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการออกแบบและพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อ "แอ็คทีฟเพลย์" ซึ่งเหมาะกับการเรียนรู้และการพัฒนาสมรรถภาพด้านร่างกายในเด็กวัย 6 - 14 ปี เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องปัจจัยต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ ทั้งในพื้นที่สาธารณะในชุมชน โรงเรียน และบ้าน โดยเริ่มนำร่องทดสอบในย่านสร้างสรรค์เจริญกรุง ผ่านการสร้างปฎิสัมพันธ์ระหว่างเด็ก ผู้ปกครอง และครูในพื้นที่กว่า 250 คนจาก 2 ชุมชน 4 โรงเรียน ควบคู่ไปกับการใช้องค์ความรู้ด้านการออกแบบบริการ ก่อนการขยายผลไปยังชุมชน และโรงเรียนอื่นๆ ต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ต้องการให้โครงการฯ ดังกล่าว เป็นการสร้างแรงกระตุ้นให้เด็กๆ ผู้ปกครอง และครู อาจารย์ เห็นคุณค่าของการ "เล่น" และการมีปฏิสัมพันธ์ทั้งทางกายและทางใจ แฝงข้อคิดในเรื่องการแบ่งปัน ความสามัคคี ความมีวินัย นายกิตติรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

ดร.นพ. ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักงานสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเสริมว่า ปัญหาหนึ่งที่พบในยุคปัจจุบัน คือ ผู้คนเคลื่อนไหวกันน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กๆ และเยาวชน ที่มีพฤติกรรมเนือยนิ่งกันมากขึ้น เนื่องจากให้ความสนใจกับสื่อและอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ที่อยู่ตรงหน้ามากกว่าเพื่อนรอบข้าง ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวถือเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ จึงกลายเป็นที่มาของโครงการ "แอคทีฟ เพลย์" ที่ต้องการดึงเด็กๆ ออกจากหน้าจอสู่โลกแห่งความเป็นจริง ใช้ชีวิตกับคนรอบข้างมากขึ้น ทั้งนี้ตามหลักความเป็นจริงแล้ว เด็กในช่วงวัย 6 – 14 ปี ควรทำกิจกรรมทางกายเป็นอย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน ซึ่งต้นแบบนวัตกรรมที่ทางศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบได้พัฒนาขึ้น ถือเป็นหนึ่งในทางออกที่สำคัญที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทั้งเด็ก เยาวชนรุ่นใหม่ และผู้ปกครอง ได้กลับมาเห็นความสำคัญของการเล่นอย่างมีคุณภาพอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดพิธีเปิด 3 นวัตกรรมสนามเด็กเล่นต้นแบบจากความคิดสร้างสรรค์ ต่อยอดโครงการ "แอคทีฟเพลย์" พร้อมสาธิตการเล่นต้นแบบอย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี เมื่อเร็วๆ นี้ ณ บ้านพักตำรวจน้ำ ชุมชนมัสยิดฮารูณ ซอยเจริญกรุง 36 กรุงเทพฯ

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.bangkokdesignweek.com หรือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรศัพท์ 02-105-7441

TCDC ร่วมกับ สสส. เปิดตัว “สนามเด็กเล่นสุดครีเอทีฟ” ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ต้นแบบสนามเด็กอัจฉริยะ ดึงเด็กออกจากจอสู่โลกความเป็นจริง TCDC ร่วมกับ สสส. เปิดตัว “สนามเด็กเล่นสุดครีเอทีฟ” ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ต้นแบบสนามเด็กอัจฉริยะ ดึงเด็กออกจากจอสู่โลกความเป็นจริง TCDC ร่วมกับ สสส. เปิดตัว “สนามเด็กเล่นสุดครีเอทีฟ” ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ต้นแบบสนามเด็กอัจฉริยะ ดึงเด็กออกจากจอสู่โลกความเป็นจริง