เกษตรฯ สัญจรครั้งที่ 3 กลุ่มจังหวัดภาคกลางและตะวันออก เร่งแผนปฏิรูปเกษตรจากนโยบายเชื่อมสู่การปฏิบัติในพื้นที่ อ้อนภาคเอกชนเสนอแผนความต้องการสินค้าเกษตร พร้อมดึงพณ.จังหวัดร่วมวิเคราะห์การทำสัญญาซื้อขายสินค้าเกษตรป้องโดนเอาเปรียบ

07 Feb 2018
วันนี้ (7 ก.พ.61) นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ร่วมประชุมสัมมนา "การขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในระดับพื้นที่สู่การปฏิบัติ" ครั้งที่ 3 ภาคกลางและภาคตะวันออก ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน จ.จันทบุรี เพื่อชี้แจงนโยบายการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แก่ผู้ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ และเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่บูรณาการการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งหารือร่วมกับภาคเอกชนในพื้นที่ในการจัดหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกร โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย ผู้บริหารฝ่ายการเมือง ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดและอำเภอในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้งหมด พาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด ภาคเอกชน ภาคประชาชน และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,192 คน

นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การลงพื้นที่มอบนโยบายครั้งนี้ นอกจากการเน้นย้ำการทำงานของข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ในพื้นที่ที่ต้องทำร่วมกันทำสิ่งใหม่ ปรับวิธีคิด วิธีทำงานกันใหม่อย่างไร้รอยต่อ มีมุมมองกว้างไกลต้องเป็นนักวางแผนการเกษตรการผลิตให้มีคุณภาพและเพียงพอต่อความต้องการของตลาดไม่ล้นตลาดเกินไป ลงไปทำงานพูดคุย พบปะรับฟังประเด็นปัญหาจากเกษตรกรอย่างใกล้ชิดแล้ว ในโอกาสนี้ยังได้หารือกับพาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด และหอการค้าจังหวัด โดยได้ขอความร่วมมือในหลายประเด็นสำคัญ เพื่อให้การตลาดนำการผลิตเกิดขึ้นและเห็นผลชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น ประกอบด้วย 1.ข้อมูลความต้องการด้านตลาดสินค้าเกษตรในพื้นที่ 2. การสนับสนุนการรวมกลุ่มเกษตรกรเป็นสหกรณ์ที่เข้มแข็ง 3. ขอความร่วมมือพาณิชย์จังหวัด และอุตสาหกรรมจังหวัด ทำงานร่วมกับเกษตรจังหวัด ในการแนะนำผู้ประกอบการ เอกชนที่รับซื้อสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ในพื้นที่ได้ทำงานร่วมกันใกล้ชิดมากขี้น ซึ่งเกษตรจังหวัดในฐานะหัวหน้าทีมเกษตรในจังหวัดต้องประเมินสถานการณ์สินค้ามาทำงานแบบเชิงรุกได้ และมีข้อมูลผลงานชัดเจนว่าในรอบ 6 เดือน หรือ 1 ปี สินค้าเกษตรอะไรขายได้ และเป็นที่ต้องการมากที่สุด และ 4..ขอให้พาณิชย์จังหวัดเป็นปรึกษา และวิเคราะห์ในการทำสัญญาการซื้อขายสินค้าเกษตรระหว่างเกษตรกรกับเอกชน โดยเฉพาะในด้านราคาสินค้าเกษตรที่จะขายได้ และอยู่ในความต้องการของตลาดจริง เป็นต้น ทั้งหมดนี้จะเป็นการทำงานเชิงรุกในระดับพื้นที่มากขึ้น หากพบปัญหาอุปสรรค หรือข้อเสนอแนะในระดับพื้นที่จะรายงานกลับมายังส่วนกลาง ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ ทั้ง 4 คน เชื่อมโยงการทำงานกับกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ ขับเคลื่อนในระดับนโยบายต่อไป