ตัวอย่างเกินครึ่งหรือร้อยละ 56.48 เป็นหญิง และร้อยละ 43.52 เป็นชาย เมื่อจำแนกออกเป็นเจเนอเรชั่น พบว่า ร้อยละ 7.30 เป็นเจเนอเรชั่น Z ร้อยละ 11.78 เป็นเจเนอเรชั่น M ร้อยละ 21.28 เป็นเจเนอเรชั่น Y ร้อยละ 31.21 เป็นเจเนอเรชั่น X และร้อยละ 28.43 เป็นเจเนอเรชั่น B ด้านสถานภาพสมรส พบว่า ตัวอย่างเกือบครึ่งหรือร้อยละ 49.33 สมรสแล้ว ร้อยละ 42.00 เป็นโสด และร้อยละ 8.67 เป็นหม้าย/หย่า/แยกกันอยู่ ส่วนการศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุด พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.67 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 24.99 ระดับปริญญาตรี และร้อยละ 4.34 ระดับสูงกว่าปริญญาตรี
ผลสำรวจในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เมื่อพิจารณากลุ่มตัวอย่างที่มีความเครียดในแต่ละวัย (Generation) พบว่า ในภาพรวม ประชาชนทุกวัยที่มีความเครียด คิดเป็นร้อยละ 87.34 และเมื่อจำแนกในแต่ละวัย พบว่า วัยที่มีความเครียดจากมากที่สุดไปน้อยที่สุด มีดังนี้
Gen Y (อายุ 25-35 ปี) เป็นวัยที่มีความเครียดมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 90.16 โดยมีเรื่องเครียดมากที่สุดใน 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) เรื่องเศรษฐกิจ/การเงิน (ร้อยละ 66.82) 2) เรื่องสิ่งแวดล้อม (ร้อยละ 52.17) และ 3) เรื่องการงาน (ร้อยละ 49.20) ตามลำดับ
Gen Z (อายุ 15-18 ปี) เป็นวัยที่มีความเครียดรองลงมา คิดเป็นร้อยละ 88.67 โดยมีเรื่องเครียดมากที่สุดใน 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) เรื่องการเรียน (ร้อยละ 59.33) 2) เรื่องครอบครัว (ร้อยละ 49.33) และ 3) เรื่องเศรษฐกิจ/การเงิน (ร้อยละ 48.00) ตามลำดับ
Gen M (อายุ 19-24 ปี) เป็นวัยที่มีความเครียดคิดเป็นร้อยละ 88.02 โดยมีเรื่องเครียดมากที่สุดใน 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) เรื่องเศรษฐกิจ/การเงิน (ร้อยละ 61.16) 2) เรื่องสิ่งแวดล้อม (ร้อยละ 50.00) และ 3) เรื่องการงาน (ร้อยละ 40.91) ตามลำดับ
Gen B (อายุ 51-69 ปี) เป็นวัยที่มีความเครียดคิดเป็นร้อยละ 86.82 โดยมีเรื่องเครียดมากที่สุดใน 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) เรื่องเศรษฐกิจ/การเงิน (ร้อยละ 60.45) 2) เรื่องสุขภาพ (ร้อยละ 56.34) และ 3) เรื่องสิ่งแวดล้อม (ร้อยละ 37.50) ตามลำดับ และ
Gen X (อายุ 36-50 ปี) เป็นวัยที่มีความเครียดน้อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ 85.34 โดยมีเรื่องเครียดมากที่สุดใน 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) เรื่องเศรษฐกิจ/การเงิน (ร้อยละ 61.47) 2) เรื่องสุขภาพ (ร้อยละ 41.34) และ 3) เรื่องการงาน (ร้อยละ 41.19) ตามลำดับ
นอกจากนี้ ยังพบว่า เรื่องที่ประชาชนในภาพรวมทุกวัยมีความเครียดมากที่สุดใน 5 อันดับแรก คือ 1) เรื่องเศรษฐกิจ/การเงิน (ร้อยละ 61.30) 2) เรื่องสิ่งแวดล้อม (ร้อยละ 43.33) 3) เรื่องสุขภาพ (ร้อยละ 42.06) 4) เรื่องครอบครัว (ร้อยละ 37.63) และ 5) เรื่องการงาน (ร้อยละ 36.66) เป็นต้น
ส่วนวิธีปฏิบัติตนเพื่อแก้ปัญหาเมื่อตนเองรู้สึกเครียดในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ/การเงิน เรื่องสิ่งแวดล้อม และเรื่องสุขภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนส่วนใหญ่มีความเครียด พบว่า เมื่อประชาชนรู้สึกเครียดในเรื่องเศรษฐกิจ/การเงินจะแก้ปัญหาความเครียดโดยการใช้จ่ายอย่างประหยัด ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงทำอาชีพเสริมทำงานให้มากขึ้น และยอมรับความเป็นจริงและมีสติไม่เครียดกับเรื่องเศรษฐกิจ เป็นต้น ส่วนในเรื่องสิ่งแวดล้อมจะแก้ปัญหาความเครียดโดยการยอมรับความเป็นจริงและรู้จักปล่อยวาง หางานอดิเรกทำ และรู้จักวางแผนการเดินทาง เป็นต้น สำหรับในเรื่องสุขภาพจะแก้ปัญหาโดยการออกกำลังกาย เล่นกีฬา ปรึกษาแพทย์ รับประทานยา และรู้จักดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เป็นต้น
เมื่อพิจารณาจากผลสำรวจในครั้งนี้ ก็พบว่า ปัญหาที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เกิดความเครียด คือ ปัญหาสินค้าราคาแพงปัญหาหนี้สิน/รายรับไม่พอกับรายจ่าย ปัญหาการแบ่งพรรคแบ่งพวก ความไม่ซื่อสัตย์สุจริตของนักการเมือง และปัญหาการจราจร ซึ่งเป็นปัญหาที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรนำไปพิจารณาเพื่อปรับปรุงแก้ไข และให้ประชาชนมีความเครียดต่อปัญหาต่างๆ เหล่านี้น้อยลง ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นได้ส่งผลทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย (ร้อยละ 67.77) ไม่มีความสุขเลย (ร้อยละ 62.80) และรู้สึกหมดกำลังใจ (ร้อยละ 45.96) ซึ่งอาจทำให้ความสุขของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากความรู้สึกดังกล่าวลดน้อยลงในที่สุด
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit