เครือข่ายลดบริโภคเค็มเปิดตัวเว็บไซต์เพื่อผู้บริโภค www.lowsaltthai.com

09 Feb 2018
ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม เปิดเผยว่า เครือข่ายลดบริโภคเค็มและสมาคมโรคไตได้เปิดตัวเว็บไซต์เพื่อผู้บริโภคให้มีความทันสมัยมากขึ้น โดยใช้ชื่อว่า www.lowsaltthai.com เพื่อเป็นช่องทางแสวงหาความรู้พื้นฐานและเป็นการส่งเสริมพัฒนาให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงการลดการบริโภคเค็ม ภายในรายละเอียดของเว็บไซต์ ได้มีการวางเนื้อหาที่หลากหลายให้มีความน่าสนใจในแต่ละด้าน เริ่มต้นจากที่มาของเครือข่ายลดบริโภคเค็ม รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่เครือข่ายลดบริโภคเค็มได้ทำการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่หรือการเข้าไปมีส่วนร่วมกับสังคม มีการแนะนำความรู้เกี่ยวกับโครงการงานวิจัยต่าง ๆ อาทิ โครงการขับเคลื่อนเพื่อลดการบริโภคโซเดียมของคนไทยผ่านการอ่านฉลาก, โครงการ Food Safety Forum : ลดเกลือโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป, โครงการการผลิตเครื่องตรวจความเค็มในตัวอย่างอาหารและปัสสาวะเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพของประชาชนทั่วไป เป็นต้น
เครือข่ายลดบริโภคเค็มเปิดตัวเว็บไซต์เพื่อผู้บริโภค www.lowsaltthai.com

นอกจากนี้ยังมีสื่อต่าง ๆ ที่เป็นอาร์ตเวิร์คด้านการรณรงค์ลดการบริโภคเค็มและสื่อ TVC ต่าง ๆ อาทิ เพลง"ลดเค็มครึ่งหนึ่ง" ของมนต์สิทธิ์ คำสร้อย หรือ AD โฆษณาลดเค็มครึ่งหนึ่งในเวอร์ชั่นรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งผู้เข้าชมเว็บไซต์สามารถเก็บข้อมูลหรือดาวน์โหลดนำไปใช้งานในด้านการศึกษาหรือนำไปใช้ในกิจกรรมของโรงเรียน สถานศึกษาหรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นวิทยาทานการใช้เนื้อหาร่วมกันและเป็นการรณรงค์เพื่อพัฒนาสื่อการเรียนการสอนอย่างสร้างสรรค์ให้เข้าถึงสังคมและเป็นการช่วยรณรงค์ลดการบริโภคเค็มด้วยอีกทางหนึ่ง

ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ผู้เข้าชมเว็บไซต์ ยังสามารถดาวน์โหลดข้อมูลได้ทั้งไฟล์ภาพและเสียง ผ่านหน้าหลัก Less Salt Youtube Channel หรือผ่านคอลัมน์สื่อ TVC ในเว็บไซต์ หรือต้องการนำสูตรเมนูอาหารลดเค็ม (โซเดียม) ก็มีให้เลือกหลายสูตรหลากหลายเมนูอาหาร หรือจะเลือกใช้งานพูดคุย สนทนาหรือแสดงความคิดเห็น แนะนำ ผ่านโซเชียลมีเดียช่องทางอื่น ๆ ก็สามารถทำได้ เช่น ผ่านเฟสบุ๊ก ได้ที่ : ลดเค็มครึ่งหนึ่งห่างไกลโรค หรือ ไลน์ ได้ที่ @Lowsaltthailand

การรณรงค์ลดเค็ม(โซเดียม) โดยเครือข่ายลดบริโภคเค็ม

ปัจจุบันคนไทยได้รับเกลือเฉลี่ยจากการรับประทานอาหาร 10.8 กรัมต่อวันต่อคน คิดเป็นปริมาณเกลือโซเดียมที่ได้มากถึง 4,351.69 มิลลิกรัมต่อวันต่อคน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนไทยได้รับเกลือในปริมาณที่มากกว่าปริมาณที่แนะนำต่อวันเกือบ 2 เท่า การบริโภคเกลือและโซเดียมในปริมาณสูง ก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงและเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวานและไต ซึ่งเป็นอวัยวะหลักที่ทำหน้าที่กำจัดโซเดียม โดยทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้นจากการทำงานหนักและโปรตีนรั่วในปัสสาวะ และความเสื่อมนั้นจะคงอยู่ตลอดไปแม้จะมีการลดปริมาณโซเดียมลงในภายหลัง ซึ่งล้วนแต่มีสาเหตุจากการได้รับเกลือและโซเดียมปริมาณสูง ดังนั้นการลดความดันโลหิตและโปรตีนในปัสสาวะ จะช่วยป้องกันลดการสูญเสียการทำงานของไตและภาวะแทรกซ้อนเป็นบ่อเกิดของ โรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งนี้มีประชาชนป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไปเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังพบว่าอัตราการเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไตวายเพิ่มขึ้นอย่างมาก และพบว่าการสูญเสียปีสุขภาวะจากโรคไม่ติดต่อหรือโรคเรื้อรังคิดเป็น 50% ซึ่งสูงกว่าโรคติดต่อถึง 3 เท่า ทำให้ภาครัฐต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการบำบัดทดแทนไตโดยการล้างไตทางช่องท้องหรือการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเฉลี่ยประมาณ 240,000 บาทต่อคนต่อปี โดยค่าใช้จ่ายนี้ยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายด้วยยา ค่าใช้จ่ายทางอ้อมอื่น ๆ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องใช้งบประมาณในการล้างไตเป็นการเฉพาะ แยกจากงบบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว (Capitation) โดยในปีงบประมาณ 2558 สูงถึง 5,247 ล้านบาทและจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 6,318 ล้านบาท ใน พ.ศ. 2559 ต่อเนื่องไปถึงปี พศ. 2560 ซึ่งหากรวมงบประมาณสำหรับบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในสิทธิอื่น ๆ ได้แก่ สิทธิประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการแล้ว รัฐจำเป็นต้องใช้งบสูงกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว