ดร.นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า "โครงการส่งเสริมนวัตกรรมชีววิทยาศาสตร์ด้วยการลงทุน เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดธุรกิจอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ โดยผู้ประกอบการ SMEs จะมีเส้นทางการผลิตจากนวัตกรรม (Innovation) ที่ทันสมัย มีมาตรฐาน เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และมีโอกาสในการแข่งขันสู่ตลาดนานาชาติ โดยใช้กลไกการบริหารจัดการข้อตกลงถ่ายทอดสิทธิ (Licensing agreement) เป็นการต่อยอดงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้างที่มีความสำคัญมาก ซึ่งจะเกิดเป็นธุรกิจเชิงพาณิชย์แก่ผู้ประกอบการ SMEs ด้านชีววิทยาศาสตร์และสุขภาพ ที่นับเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต อีกทั้งยังส่งเสริม สนับสนุนงานวิจัย และเทคโนโลยีชีวภาพทางด้านชีววิทยาศาสตร์ รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ พร้อมทั้งส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา ต่อยอดไปสู่การผลิตผลิตภัณฑ์หรือบริการ ที่พร้อมออกสู่ตลาดธุรกิจ เป็นการสร้างโอกาส พัฒนาโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคธุรกิจและประชาชน ให้กับประเทศในการวิจัยนวัตกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ ตอบรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0"ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ เปิดเผยว่า "ทีเซลส์ (TCELS) เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริมนวัตกรรมให้เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมการผลิต จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ และบริการที่ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้จริง ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ยา ชีวภัณฑ์ทางการแพทย์ อาหารเสริมทางการแพทย์ ชุดทดสอบและบริการวิเคราะห์ทดสอบด้านจีโนม ยีน และทุกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับชีววิทยาศาสตร์ นับเป็นอุตสาหกรรมทางการแพทย์ที่ได้รับการจับตามอง ดังนั้น ในวันนี้ ทีเซลส์ (TCELS) จึงร่วมกับพันธมิตรทั้ง ThaiBio ซึ่งมีเครือบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพเป็นสมาชิกอยู่ 15 บริษัท สกว. สวก.และ สกอ.ขับเคลื่อนความร่วมมือ โครงการส่งเสริมนวัตกรรมชีววิทยาศาสตร์ด้วยการลงทุน ปีที่ 2 : Promoting Life Sciences Innovation with Investment "Promoting I with I" อย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดกิจกรรม pitching จับคู่ทางธุรกิจที่มีพี่เลี้ยงจากหน่วยงานให้ทุนเป็นผู้ดูแล และมีการติดตามผลอย่างใกล้ชิด ในปีที่ผ่านมามีการจัดงานจับคู่ธุรกิจถึง 3 ครั้ง และทำให้เกิดการจับคู่งานวิจัยสู่ภาคธุรกิจถึง 47 คู่"
ดร.นเรศ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ในปีนี้ ทีเซลส์ (TCELS) ได้วางกลยุทธเชื่อมโยงทีมวิจัยและภาคธุรกิจให้เข้มแข็งมากขึ้น พร้อมทั้งจัดทีมพี่เลี้ยงจากผู้ให้ทุนวิจัยและจากสมาคม ThaiBio จัดกิจกรรมฝึกอบรมการบริหารเทคโนโลยี โดยจะเชิญนักวิจัย ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ และนักลงทุนมาพบกันในกิจกรรมพบปะนักวิจัยและนักลงทุนในเดือนมีนาคม 2561 นี้"
ดร.ภาคภูมิ ทิพคุณ รองผู้อำนวยการฝ่ายด้านการจัดการความรู้และสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า "สกว. (TRF) เป็นหน่วยงานให้ทุนวิจัยที่ครอบคลุมทุกสาขา ทั้งวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ครอบคลุมงานวิจัยทุกระดับ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งงานวิจัยเพื่อสะสมองค์ความรู้ งานพัฒนานักวิจัยที่มีทักษะสูง ตลอดจนงานวิจัยที่เน้นการประยุกต์ใช้งาน โดยเป็นการทำงานร่วมกันกับหลายภาคส่วน เพื่อผลักดันให้งานวิจัยสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคมโดยรวม ในปีที่ผ่านมา สกว. ได้ร่วมส่งนักวิจัย เข้าร่วมร่วมโครงการ "Promoting I with I" อย่างต่อเนื่อง และจัดทีมงานเป็นพี่เลี้ยงและติดตามผลอย่างใกล้ชิด ทำให้เกิดการต่อยอดงานวิจัยร่วมกับภาคเอกชนจนสร้างมูลค่าในเชิงพาณิชย์ได้สำเร็จ และส่งเสริมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมได้ตามเป้าหมายของประเทศ"
นางสาวศิริกร วิวรวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการใช้ประโยชน์ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) กล่าวว่า "สวก. (ARDA) มีนโยบายในการร่วมสนับสนุนทุนวิจัยกับภาคเอกชนมาโดยตลอด เพื่อให้งานวิจัยถูกนำออกไปใช้ประโยชน์ได้จริง ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม โดยโครงการปี 2560 ได้รับการอนุญาตให้ภาคเอกชนใช้สิทธิจำนวน 2 โ¬¬¬ครงการ ได้แก่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดกวาวเครือขาวที่กักเก็บด้วยอนุภาคนาโนในรูปแบบอิมัลเจลสำหรับการนำส่งฮอร์โมนทางผิวหนัง และกรรมวิธีการกระตุ้นการผลิตสารดีออกซีไมโรเอสทรอลจากกวาวเครือขาวด้วยการเพาะเลี้ยงเซลล์แขวนลอย โดยผลักดันให้ผู้ประกอบการมีช่องทางและโอกาสในการเจรจาธุรกิจเพิ่มมากขึ้นด้วย"
ดร.ภาสกร เหมกรณ์ ที่ปรึกษาด้านกิจการอุดมศึกษาเอกชน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เผยว่า "สกอ. (OHEC) เป็นหน่วยงานด้านการสร้างองค์ความรู้ สนับสนุนการพัฒนา และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน รวมทั้งส่งเสริมการดำเนินงานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พัฒนาศักยภาพนักศึกษา เพื่อขับเคลื่อนองค์ความรู้สู่การพัฒนาเศรษฐกิจ สกอ. มีความยินดีอย่างยิ่งในการผนึกกำลังร่วมกันของพันธมิตร เพื่อผลักดันการพัฒนาประเทศด้วยงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม เนื่องจากเห็นว่า การเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ และนักวิจัยได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน มีความสอดคล้องกับนโยบายของสกอ. ในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม"
ดร.วสันต์ อริยพุทธรัตน์ นายกสมาคมสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพไทย (Thai Bio)กล่าวว่า "เทคโนโลยีชีวภาพเป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาท และมีความสำคัญมากในปัจจุบัน ดังที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก และประเทศไทย กำลังมุ่งสู่เศรษฐกิจฐานชีวภาพอย่างเข้มแข็ง อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังไม่สามารถสร้างธุรกิจรูปแบบนี้ให้เกิดขึ้นได้จริงมากเท่าที่ควร สาเหตุหนึ่งคือ แม้นักวิจัยจะมีผลงานที่มีศักยภาพ แต่ยังไม่สามารถนำไปสู่การใช้ประโยชน์ เนื่องจาก ขาดเงินทุนในการพัฒนาต่อ ขณะที่นักลงทุนที่มีกำลังเงินเองก็ไม่ทราบว่ามีงานวิจัยที่มีศักยภาพพร้อมจะพัฒนาเชิงธุรกิจได้ ดังนั้น สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพไทย จึงพร้อมเป็นตัวกลางเชื่อมต่อนักวิจัย และนักลงทุนให้ได้มาพบกัน ซึ่งในงานแถลงข่าวครั้งนี้ ทางสมาคมจึงได้เชิญ 3 บริษัทที่มีสินค้านวัตกรรมมาร่วมจัดแสดงด้วย ได้แก่
1. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดย PTT Innovation Institute จัดแสดงผลงานวิจัย PTT Tox Test ชุดตรวจสอบความเป็นพิษของน้ำที่ปนเปื้อนสารเคมี โดยใช้แบคทีเรียเป็นอินดิเคเตอร์
2. Betagro แสดงผลิตภัณฑ์จากผลงานวิจัยใน Betagro Research & Development Center ที่เป็นศูนย์วิจัย และตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ให้กับบริษัทในเครือรวมถึงบริการลูกค้า
3. บริษัท กรีน อินโนเวทีฟ ไบเทคโนโลยี จำกัด (Green Innovative Biotechnology) หรือ G.I.B. นำผลงานวัคซีนมาร่วมแสดง โดยมีวัคซีนพืชที่เป็นวัคซีนชนิดเดียวในโลกที่ใช้กับพืช ที่สำคัญเป็นผลงานของคนไทย
นอกจากการแถลงข่าวความร่วมมือครั้งนี้แล้ว ทั้ง 5 พันธมิตรยังเตรียมจัดกิจกรรมเสวนาในโครงการส่งเสริมนวัตกรรมชีววิทยาศาสตร์ด้วยการลงทุน ปี 2561 และการจัดกิจกรรมให้นักวิจัยเจ้าของผลงานต้นแบบได้พบกับนักลงทุน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน โดยพบปะกัน 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 จะจัดขึ้นในวันที่ 6- 7 มีนาคม นี้"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit