นายวศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย) เปิดเผยถึงเป้าหมายและกลยุทธ์การดำเนินงานของบริษัทในปี 2561 นี้ว่า บริษัทยังคงตั้งเป้าหมายของการเป็นผู้นำในธุรกิจกองทุนด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์กองทุน รวมถึงช่องทางการให้บริการและเครื่องมือช่วยการลงทุนต่างๆอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับรูปแบบการลงทุนที่ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอล โดยบลจ.กสิกรไทยถือเป็นบลจ.แห่งแรกที่มุ่งยกระดับการลงทุนไปสู่ดิจิตอลแพลตฟอร์ม โดยเริ่มต้นจากพัฒนาช่องทางการให้บริการผ่านระบบดิจิตอล ตลอดจนวางแนวคิดไปสู่การเป็นผู้ให้คำแนะนำการลงทุนผ่านระบบดิจิตอล (Robo-Advisor) ซึ่งในปีนี้บริษัทยังคงสานต่อแนวคิดและกลยุทธ์ดังกล่าว โดยการชูคอนเซ็ปต์ "Digital Wealth Platform 4.0" เพื่อต่อยอดการนำนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ๆ เข้ามาช่วยทำการลงทุนให้เป็นเรื่องง่าย สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทุกกลุ่ม เพื่อให้ลูกค้าลงทุนอย่างมั่นใจพร้อมทั้งได้รับผลตอบแทนที่เต็มศักยภาพของตนเอง
"ด้วยทิศทางการขยายตัวของอุตสาหกรรมการลงทุนที่มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น ประกอบกับปริมาณข้อมูลข่าวสารการลงทุนที่มีอยู่จำนวนมากและซับซ้อนขึ้น กลยุทธ์สำคัญในการบรรลุเป้าหมายของบริษัทจึงอยู่ที่การบริหารจัดการด้านข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งภาระกิจหลัก 3 อย่างที่ต้องทำไปพร้อมกัน คือ การสร้างกระบวนการจัดการลงทุนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและถูกต้องแม่นยำ (Effective & Precise Investment) เช่น การใช้นวัตกรรม Big Data เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตัดสินใจลงทุน หรือการสร้างแบบจำลองการลงทุนโดยอาศัยข้อมูลเชิงสถิตในอดีตเพื่อคาดการณ์หาผลตอบแทนที่คาดหวัง เป็นต้น การสร้างผลิตภัณฑ์กองทุนที่มีคุณภาพให้มีผลการดำเนินงานที่ดีสม่ำเสมอ (High Quality Products) ซึ่งปัจจุบันบลจ.กสิกรไทยมีกองทุนที่ได้รับการจัดเรตติ้ง 5 ดาวจากมอร์นิ่งสตาร์รวมทั้งหมดถึง 10 กองทุน (Rating Overall, ข้อมูลจาก Morningstar(R) ณ วันที่ 31 ธ.ค.60) และการสร้างเครื่องมือที่ทันสมัยพร้อมช่วยให้คำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมแก่ลูกค้า (Smart Advisor) ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้เปิดให้บริการแอปพลิเคชัน K-My Funds สำหรับลูกค้ากองทุนรวม และแอปพลิเคชัน K-My PVD สำหรับลูกค้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" นายวศินกล่าว
นายวศินกล่าวต่อไปว่า การที่บริษัทได้พัฒนาช่องทางการให้บริการผ่านระบบดิจิตอลตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ส่งผลทำให้บลจ.กสิกรไทยมีจำนวนลูกค้ากองทุนรวมที่ลงทุนผ่านช่องทางดิจิตอลเพิ่มขึ้น ซึ่งยอด ณ สิ้นปี 2560 มีลูกค้ากองทุนรวมที่ลงทุนผ่านช่องทางดิจิตอล (Digital-based Users) คิดเป็นสัดส่วนที่ 30% จากจำนวนลูกค้ากองทุนรวมทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงสุดในอุตสาหกรรม ซึ่งเมื่อคิดเป็นมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการผ่านช่องทางดิจิตอล (Digital-based AUM) จะอยู่ที่สัดส่วนราว 21% ของ AUM กองทุนรวมทั้งหมด ส่วนเป้าหมายในปี 2561 นี้ บลจ.กสิกรไทยตั้งเป้าหมายฐานลูกค้าที่ใช้บริการผ่านช่องทางดิจิตอล (Digital-based Users) เพิ่มขึ้นอีกเป็น 50% ของจำนวนลูกค้ากองทุนรวมทั้งหมด ส่วนเป้าหมาย Digital-based AUM เพิ่มขึ้นอีกเป็น 30% ของ AUM กองทุนรวมทั้งหมด
ด้านภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 2560 ที่ผ่านมา บลจ.กสิกรไทยเติบโตอยู่ที่ 5% ซึ่ง ณ สิ้นปี 2560 มีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) อยู่ที่ 1.30 ล้านล้านบาท โดยแยกเป็นรายธุรกิจในส่วนกองทุนรวมอยู่ที่ 1.01 ล้านล้านบาท กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 1.73 แสนล้านบาท และกองทุนส่วนบุคคล 1.17 แสนล้านบาท โดยคิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดจำแนกตามธุรกิจอยู่ที่ 20.1%, 16.0% และ13.9% ตามลำดับ ทั้งนี้ บลจ.กสิกรไทย ยังคงครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ในอุตสาหกรรมกองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ขณะที่กองทุนส่วนบุคคล นับว่ามีตัวเลขเติบโตสูงสุด เมื่อเทียบทั้ง 3 ธุรกิจ โดยเติบโตที่ 29.3 % (ข้อมูลจาก AIMC ณ 29 ธ.ค.2560)
สำหรับมุมมองเศรษฐกิจและการลงทุนในปี 2561 บลจ.กสิกรไทยมองว่า กลยุทธ์การลงทุนที่สำคัญยังแนะนำให้ผู้ลงทุนกระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ โดยให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นซึ่งมีความน่าสนใจมากกว่าตราสารหนี้ จากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวต่อเนื่อง เป็นปัจจัยบวกต่อผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้น แต่เนื่องจากภาพรวมราคาหุ้นทั่วโลกที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมา จึงคาดว่าปี 2561 นี้อาจจะไม่ปรับตัวแรงเท่าปี 2560 ที่ผ่านมา ทั้งนี้บลจ.กสิกรไทยเลือกให้น้ำหนักการลงทุนในรายประเทศที่น่าสนใจ ได้แก่ จีน ยุโรป และญี่ปุ่น ด้วยปัจจัยเรื่องระดับราคาหุ้นที่ซื้อขายในระดับที่ถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับในภูมิภาคอื่นๆ ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ยังมีแนวโน้มขยายตัวและเติบโตต่อเนื่อง
ด้านมุมมองตลาดหุ้นไทย คาดว่าดัชนีปี 2561 น่าจะปรับตัวขึ้นไปแตะที่ระดับ 1,850 จุด บนปัจจัยพื้นฐานที่ระดับ P/E ปี 2561ประมาณ 16.5 เท่า จากแนวโน้มอัตราการเติบโตกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่ 10% บวกกับแรงหนุนจากเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวดีต่อเนื่อง และอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยมองว่าในปีนี้หุ้นขนาดใหญ่น่าจะมีโมเมนตัมที่ดีกว่าหุ้นขนาดเล็ก ส่วนมุมมองการลงทุนในตราสารหนี้ คาดว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ อีก 3 ครั้งในปี 2561 ทำให้ความน่าสนใจของการลงทุนในตราสารหนี้ลดลง อย่างไรก็ตาม มองว่าตราสารหนี้เอเชียจะให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจกว่าภูมิภาคอื่น เนื่องจากผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯมีต่ำกว่า รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียส่วนใหญ่มีเสถียรภาพและยังดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติได้ดี
ส่วนปัจจัยความไม่แน่นอนในปีนี้ที่ผู้ลงทุนควรติดตาม ได้แก่ การดำเนินนโยบายของทรัมป์ การขึ้นดอกเบี้ยและปรับลดงบดุลของสหรัฐฯ การเริ่มลดการผ่อนคลายทางการเงินของยุโรปและญี่ปุ่น รวมถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ (Geopolitical risk) อาทิ ยุโรป ตะวันออกกลาง สหรัฐฯและเกาหลีเหนือ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลต่อความผันผวนของการลงทุนในปีนี้
ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit