นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. ได้ดำเนินการวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจสินค้าเกษตร ตามโครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning by Agri-Map) ซึ่งในส่วนของจังหวัดสกลนคร มีการปลูกหม่อนผลสด หรือ Mulberry เพื่อเป็นพืชทางเลือก มีการแปรรูปแบบครบวงจร โดยมีพื้นที่ปลูกหม่อน 54.25 ไร่ เกษตรกรขึ้นทะเบียนปลูกหม่อนผลสด จำนวน 30 ราย ซึ่งได้รับรองมาตรฐาน GAP และอยู่ระหว่างดำเนินการขอรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม โดยส่วนใหญ่ปลูกในอำเภอภูพาน และอำเภอเมือง
พันธุ์ที่นิยมปลูกกินผลสด คือ พันธุ์เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตต่อไร่ต่อปีสูง มีขนาดผลใหญ่และมีปริมาณกรดสูงกว่าพันธุ์อื่นๆ โดยหม่อนผลสดสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 2-3 ครั้งต่อปี ผลสุกมีรสหวาน สำหรับฤดูร้อน จะมีค่าความหวานตั้งแต่ 19 บริกซ์ขึ้นไป ฤดูฝนมีค่าความหวาน 10-19 บริกซ์ และฤดูหนาวมีค่าความหวาน 16-19 บริกซ์
ในปี 2560 ที่ผ่านมา จังหวัดสกลนคร ได้เริ่มดำเนินการโดยยึดหลัก ตลาดนำการผลิต มีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง จัดทำปฏิทินการผลิต วางแผนการผลิตจากคำสั่งซื้อของลูกค้า และให้เกษตรกรจับคู่กันระหว่างเกษตรกรที่มีพื้นที่ปลูกมาก กับเกษตรกรที่มีพื้นที่ปลูกน้อย ทำการตัดแต่งกิ่งพร้อมกัน เพื่อให้ผลผลิตออกพร้อมเพรียงกัน และวางแผนให้ผลผลิตทยอยออกเป็นช่วงๆ ช่วยลดความเสี่ยงสินค้าล้นตลาด ผลผลิตค้างสต๊อก และเน่าเสีย
ด้านนางเพ็ญศิริ วงษ์วาท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 จังหวัดอุดรธานี (สศท.3) กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการติดตามกลุ่มเกษตรกร ด้านแหล่งรับซื้อที่ทำการแปรรูปในจังหวัดสกลนคร พบว่า มีโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 (เต่างอย) หจก.รัฐพงษ์ธัญพืชสาโทแอนด์ไวน์ และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปน้ำผลไม้เหล่าเหนือ เป็นแหล่งรับซื้อของเกษตรกรในจังหวัด ราคาหน้าฟาร์ม 20-35 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งนอกจากการขายผลสดแล้ว เกษตรกรยังมีการรวมกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น น้ำมัลเบอร์รี่ 100% น้ำมัลเบอร์รี่เข้มข้น น้ำมัลเบอร์รี่สดและเสาวรส แยมมัลเบอร์รี่ มัลเบอร์รี่อบแห้ง เป็นต้น จำหน่ายภายใต้แบรนด์ บ้านสวนภูสกล ช้างพลังสอง และเหล่าเหนือ โดยมีช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า อาทิ งานแสดงสินค้า ร้านค้าเพื่อสุขภาพ ร้านค้าประจำกลุ่ม สื่ออินเตอร์เน็ตต่างๆ และเว็บไซต์ของกระทรวงพาณิชย์
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรในจังหวัดสกลนคร ยังต้องการความรู้ในด้านการตลาด การจัดทำมาตรฐานสินค้าและแปรรูปผลิตภัณฑ์ ดังนั้น ภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และหน่วยงาน ต้องร่วมมือกันส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์หม่อนผลสด นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า การสร้างแบรนด์ พร้อมทั้งเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายโดยมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์ เพื่อกระตุ้นความต้องการบริโภคและเพิ่มทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภคต่อไป ซึ่งในส่วนของ สศก. ได้มีการจัดทำปฏิทินการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญต่างๆ และ สศท.3 ยินดีที่จะให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในพื้นที่ เพื่อวางแผนการผลิตให้เหมาะสมต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit