นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวภายหลังเข้าพบดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ถึงภารกิจสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศว่า สมาพันธ์ฯยืนยันเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการเกษตรของไทย ด้วยการให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตการเกษตร ยกระดับความเป็นมืออาชีพเกษตรกรรม เน้นการให้ความรู้ทักษะความปลอดภัย และถูกต้องตามหลักสุขภาพอนามัยตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงมือผู้บริโภคด้วยจิตสำนึกที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคม
โดยในปี 2560 ที่ผ่านมาสมาพันธ์ฯ ได้จัดกิจกรรมให้ความรู้แก่เกษตรกรและผู้ใช้สารกำจัดศัตรูพืชเพื่อการใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างปลอดภัย โดยมีวัตถุประสงค์ส่งเสริมมาตรฐานการทำการเกษตรปลอดภัย ภายใต้มาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice) ตลอดจนให้ความรู้ด้านการฉีดพ่นสารอารักขาพืชอย่างปลอดภัย ตระหนักถึงความเสี่ยง ทั้งต่อตนเอง ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม แก่กลุ่มเกษตรกรรับจ้างฉีดพ่น ในภาคการเกษตร ซึ่งได้ให้ความรู้แก่กลุ่มเกษตรกรดังกล่าวไปแล้ว 2 รุ่น รวม 50 คน ในกลุ่มเกษตรกรกลุ่มข้าวและอ้อยในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี โดยได้รับการสนับสนุนด้านวิทยากร จากกรมวิชาการเกษตรที่สนับสนุนความรู้แก่เกษตรกรเรื่องเทคนิคการฉีดพ่นสารกำจัดศัตรูพืช ในขณะที่ภาคเอกชนกลุ่มผู้ผลิตสารกำจัดศัตรูพืชร่วมกันส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการศัตรูพืชซึ่งทำให้เกษตรกรที่เข้ารับการอบรมเข้าใจและตระหนักสำนึกรับผิดชอบต่อการใช้สารอารักขาพืชในการเพาะปลูกมากยิ่งขึ้น
"การอบรมในครั้งนี้ เรามุ่งให้ความรู้แก่เกษตรกรเจ้าของแปลง และให้ความรู้แก่กลุ่มผู้รับจ้างผลิตให้สามารถใช้สารอารักขาพืชอย่างปลอดภัย ตั้งแต่การเลือกใช้ชนิดของสารอารักขาพืชให้ถูกต่อโรค อาการของศัตรูพืช ตลอดจนการปฏิบัติตามคำแนะนำข้างฉลากอย่างเคร่งครัด การตรวจตรา เครื่องมืออุปกรณ์ถังฉีดพ่นให้อยู่ในลักษณะพร้อมใช้งาน การสวมอุปกรณ์การฉีดพ่นที่รัดกุม ถูกวิธีปฏิบัติ รวมถึงการทำลายบรรจุภัณฑ์ของสารอารักขาพืชอย่างถูกต้องหลักสากล ซึ่งจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันทั้งต่อตัวผู้ใช้เอง ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ที่สำคัญจะช่วยให้ผลผลิตที่ได้เต็มศักยภาพยิ่งขึ้น" นายสุกรรณ์กล่าวเสริม
สำหรับเป้าหมายการอบรมในปี 2562 นี้ เลขาธิการสมาพันธ์ฯ ตั้งเป้าหมายการอบรมว่ายังคงเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้รับจ้างฉีดพ่น และกลุ่มเกษตรกรรายใหญ่และรายย่อยผู้ผลิตสินค้าเกษตรหลัก อาทิ มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย ปาล์มน้ำมัน ข้าว ไม้ผล เป็นต้น ทั้งหมด 12 รุ่น เป้าหมาย 300 คน จากทั่วประเทศ เพื่ออย่างน้อยกลุ่มเกษตรกรเหล่านี้จะเป็น กลุ่มเกษตรกรนำร่องเพื่อส่งต่อความรู้ด้านการใช้สารอารักขาพืชที่ถูกต้องต่อภาคการเกษตรในท้องถิ่นของตนต่อไป
HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit