อาจารย์นิธิศ วนิชบูรณ์ อาจารย์สาขาวิชาศิลปะและการออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา เล่าถึงหนึ่งผลงานในนิทรรศการ "Collaborative relationship (Beyond) : Art Won't Be Ordinary" ซึ่งกองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดขึ้น ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยนเรศวร
Untitled ถ่ายทอดเรื่องราวของเศษเครื่องถ้วยเวียงกาหลงที่ถูกค้นพบในกว๊านพะเยาอันเนื่องมาจากสภาวะภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี เปรียบเสมือนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของคนในภูมิภาคนี้ แต่กลับไม่ถูกพูดถึงในสังคมระดับกว้าง
"ทั้งตัวผลงานและรูปแบบการจัดแสดง บอกเล่าเรื่องราวความสำคัญของสังคมกระแสหลักในเมืองหลวง แสดงให้เห็นว่างานจิตรกรรมถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรับใช้ ตอบสนองต่อกลุ่มคนเล็ก ๆ ในเมืองหลวง เช่น กลุ่มนักเรียน นักศึกษาศิลปะ กลุ่มคนชั้นสูง หรือกลุ่มคนมีกำลังในการซื้อชิ้นงาน ตั้งแต่การนำเสนอผ่านกรอบรูปขนาดใหญ่ โซฟาสำหรับนั่งดูผลงาน และกรอบเส้นแดงระบุข้อความห้ามเข้า เพราะสิ่งใดก็ตามที่มีความสำคัญ มักจะถูกห้ามเข้าใกล้ ห้ามสัมผัส แตะต้อง"
และแน่นอนว่าผลงานจิตรกรรมชุด Untitled นี้ จะจัดแสดงเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดเท่านั้น ไม่จัดแสดงในกรุงเทพมหานคร เช่นเดียวกับผลงานสื่อผสมธรรมชาติ ชุด Peacock ของอาจารย์อารยา รวมสำราญ กับโคมไฟรูปนกยูงที่ถักทอจากวัสดุธรรมชาติระย้าห้อยลงมาจากเพดาน ชวนสะดุดตายิ่งนัก
"เป็นผลงานกึ่งทดลอง เพราะที่ผ่านมาจะสอนนักศึกษาตามระบบส่วนกลางที่ร่ำเรียนมา ทางด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จนมาเริ่มตั้งคำถามว่าสิ่งที่สอนนำไปใช้ได้จริงหรือ นิสิตที่อยู่ในภาคเหนือตอนบน ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ไม่มีโรงงานผลิตที่เป็นระบบอุตสาหกรรมเลย ในที่สุดแล้วนิสิตเหล่านี้ต้องถูกป้อนเข้าส่วนกลาง ทิ้งบ้านของตัวเอง จึงกลับมาคิดว่าจุดยืนของเราควรจะทวนกระแสหลักหรือเปล่า จนเกิดเป็นผลงานกึ่งทดลองชิ้นนี้ โดยมีความเชื่อมั่นว่า ควรจะแข็งแกร่งในจุดที่เรายืน จากเดิมไม่เป็นงานหัตถกรรมเลย ก็เริ่มลงชุมชนพร้อมนิสิต เข้าหาชาวบ้าน ทำให้ค้นพบว่า นิสิตมหาวิทยาลัยพะเยามีจุดแข็งคือ มีทักษะที่แตกต่างคือ เป็นคนละเอียด และมีพื้นฐานการจักสานติดตัวมาตั้งแต่เด็ก เราจึงนำจุดแข็งนี้มาปรับใช้ในการเรียนการสอน"
แรงบันดาลใจการสร้างสรรค์ผลงาน Peacock ของอาจารย์อารยา รวมสำราญ เกิดจากการสังเกตเห็นว่า วัดในภาคเหนือจะมีนกยูงอยู่บนยอดอุโบสถ เมื่อได้ศึกษาพบว่า เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มชนไทใหญ่เมื่อไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ใด โดยบ่งบอกว่าเป็นถิ่นที่มีความอุดมสมบูรณ์ ความสุข ความโชคดี วัสดุที่ใช้หาได้ในท้องถิ่น ทั้งผักตบชวาจากกว๊านพะเยา ไม้ไผ่ หวายจากขาวบ้าน หรือแม้แต่ด้ายชิ้นเล็ก ๆ ล้วนมาจากการย้อมสีธรรมชาติทั้งสิ้น
นอกจากนี้ยังมีผลงานศิลปะหลากรูปแบบ แนวคิด ที่วิพากษ์ วิจารณ์ ตั้งคำถาม ชวนให้ย้อนมามองและตระหนักในอัตลักษณ์แห่งตัวตน เช่น ผลงานปักไหมบนผ้าพิมพ์ลาย, ภาพถ่ายชุด Beer และยาผงแดง: ผู้คนในประวัติศาสตร์ (Modern) ล้านนา, ผลงานจด ๆ จ้อง ๆ โดยการขึ้นรูปด้วยมือ ที่บอกให้รู้ว่า การเลือกทำสิ่งหนึ่ง อาจทำให้สูญเสียอีกสิ่งหนึ่ง, สื่อผสมชุด เมื่อการรู้เท่าไม่ธัญ (หากไม่พิจารณา) ทันไม่เท่ากับรู้ เป็นต้น
ขอเชิญชื่นชมอีกหนึ่งมิติของผลงานศิลปะหลายแขนงฝีมือของอาจารย์สาขาวิชาศิลปะและการออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ในนิทรรศการ "Collaborative relationship (Beyond) : Art Won't Be Ordinary" ในวันและเวลาราชการ ตลอดเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ณ หอศิลป์ฯ อาคารวิสุทธิกษัตริย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร โทร. 0 5596 1148
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit