เทศกาลตรุษจีนเป็นเทศกาลที่สำคัญของชาวจีน ตามปฏิทินจีนถือเอาวันตรุษจีนเป็นวันขึ้นปีใหม่ ประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนานของชาวไทยเชื้อสายจีนในช่วงเทศกาลตรุษจีน คือ การจับจ่ายซื้ออาหารเพื่อไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพบุรุษ รวมทั้งจัดเตรียมไว้สำหรับเลี้ยงฉลองในหมู่เครือญาติ โดยอาหารที่นิยมใช้ไหว้ตามความเชื่อของชาวไทยเชื้อสายจีน เช่น เนื้อสัตว์จำพวก เป็ด ไก่ ปลา หมู นอกจากนี้ ยังมี ไข่ ผักและผลไม้สดที่เป็นมงคล ขนมมงคล เช่น ขนมเข่ง ขนมเทียน ขนมปุยฝ้าย เป็นต้น
ผศ.ดร.รชา เทพษร อาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีคำแนะนำผู้บริโภคในการเลือกซื้ออาหารด้วยความมั่นใจและปลอดภัยช่วงเทศกาลตรุษจีน ว่า อาหารที่ผู้บริโภคนิยมซื้อในช่วงเทศกาลตรุษจีน มีทั้งชนิดที่เป็นอาหารสด อาหารพร้อมปรุง และปรุงสำเร็จพร้อมบริโภค ในกรณีที่เป็นอาหารพร้อมบริโภค ผู้ผลิตมักผลิตออกมาจำนวนมาก จึงมีความเป็นไปได้ว่าหากช่วงระยะเวลาระหว่างการเตรียมจนกระทั่งจัดจำหน่าย อาหารดังกล่าวอาจอยู่ในสภาวะที่เหมาะสมต่อการเจริญของจุลินทรีย์ ย่อมส่งผลโดยตรงถึงความปลอดภัยและก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ
นอกจากนี้ ผู้บริโภคควรใส่ใจเลือกสถานที่จัดจำหน่ายอาหารที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ มีกระบวนการป้องกันการปนเปื้อน เลือกซื้อจากผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือ ได้รับรองคุณภาพด้านความปลอดภัยในการผลิตอาหาร
สำหรับอาหารพร้อมปรุงและพร้อมรับประทาน ควรตรวจสอบโดยดูจากบริษัทผู้ผลิตอาหารต้องมีมาตรฐานการผลิต ในเรื่องความสะอาด วัตถุดิบ ส่วนผสม การขนส่ง และการเก็บรักษา ผ่านการรับรองของกระทรวงสาธารณสุข ยกตัวอย่าง อาหารแช่เยือกแข็งควรวางจำหน่ายในตู้ควบคุมอุณหภูมิ โดยมีอุณหภูมิไม่เกิน -18 องศาเซลเซียส อาหารแช่เย็นพร้อมปรุง หรือพร้อมบริโภคต้องจัดจำหน่ายในตู้ควบคุมอุณหภูมิเช่นกัน โดยมีอุณหภูมิไม่เกิน 5 องศาเซลเซียส อาหารปรุงสุกพร้อมรับประทานควรอุ่นร้อนอยู่เสมอและมีอุณหภูมิสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส หรือให้สังเกตจากควันไอน้ำที่ลอยอยู่เหนืออาหาร หลีกเลี่ยงอาหารปรุงสุกที่เก็บไว้ที่อุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมโดยไม่มีการอุ่นร้อน เนื่องจากที่อุณหภูมินี้(ระหว่าง 5 องศาเซลเซียส ถึง 60 องศาเซลเซียส) อยู่ในช่วงอุณหภูมิอันตราย (Danger Zone) ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเพิ่มจำนวนของจุลินทรีย์ ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถสังเกตตู้แช่ควบคุมอุณหภูมิตามระดับที่กำหนด หากไม่เป็นไปมาตรฐานดังกล่าว ก็อาจเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้อาหารเกิดการปนเปื้อนจากเชื้อต่างๆ และส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค
การหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดจากการบริโภคอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคอาหารเป็นพิษที่เกิดจากจุลินทรีย์ก่อโรคที่มีอาหารเป็นพาหะ สุขลักษณะของสถานที่จัดจำหน่ายอาหารก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยต้องเลือกซื้ออาหารจากสถานที่จัดจำหน่ายที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสถานที่ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานสาธารณสุข หรือสถานที่จัดจำหน่ายที่ถูกสุขอนามัยตามข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีวิธีการสังเกตได้ด้วยตัวเอง คือ ความสะอาดของสถานที่จัดจำหน่าย อาหารที่จัดจำหน่ายมีกระบวนการป้องกันการปนเปื้อน เช่น มีภาชนะปิด แยกอาหารสด ออกจากอาหารพร้อมบริโภค บริเวณรอบๆ สถานที่จัดจำหน่ายสะอาด ไม่เป็นแหล่งสะสมของสิ่งสกปรก สินค้าเก็บอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ถูกต้อง
อาหารสด เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ อาหารทะเล ผักสด ผลไม้นั้น ผู้บริโภคควรมีแผนการซื้อ และการประกอบอาหารไว้ล่วงหน้า ไม่ควรเก็บเนื้อสัตว์สดไว้ที่อุณหภูมิสูงกว่า 5 องศาเซลเซียส นานเกินกว่า 2 ชั่วโมง เพราะหากเก็บนานกว่านี้เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเพิ่มจำนวนของจุลินทรีย์ที่อาจปนเปื้อนมากับผลิตภัณฑ์ การจัดลำดับการเลือกซื้อวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับใช้ในเทศกาลเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง ต้องหลีกเลี่ยงโอกาสที่จะทำให้เกิดการปนเปื้อนข้าม (Cross Contamination) ซึ่งหมายถึงการปนเปื้อนจากที่ที่มีอันตรายปนเปื้อนสูง ไปสู่ที่ที่มีอันตรายปนเปื้อนต่ำ ของแห้ง ผัก และผลไม้ ควรเก็บแยกจากอาหารสด อาหารแช่เยือกแข็งควรซื้อเป็นลำดับสุดท้าย และถ้าเป็นไปได้ ควรให้ผู้ขายบรรจุใส่ลังน้ำแข็ง และเก็บในที่ที่มีอุณหภูมิต่ำตลอดเวลา
ข้อสังเกตลักษณะเนื้อสัตว์สดที่ดี ต้องมีเนื้อแน่น สีเนื้อปกติ สม่ำเสมอและเป็นธรรมชาติ โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีข้อกำหนดไม่อนุญาตให้ใช้สีผสมอาหารในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทุกชนิด สำหรับการเลือกซื้อไก่เพื่อเซ่นไหว้ ควรเลือกไก่ที่มีหนังสีขาวอมชมพู มีสีสม่ำเสมอ สีที่ผิดปกติโดยเฉพาะอย่างยิ่งรอบคอ ส่วนหัว หรือหงอน แสดงให้เห็นว่าไก่อาจเป็นโรค เมื่อซื้อเสร็จแล้วต้องรีบนำกลับทันที และเก็บไว้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส หากยังไม่ปรุงด้วยความร้อนในทันที เพื่อลดโอกาสการเจริญของจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนมากับวัตถุดิบ
ในกรณีที่เป็นอาหารบรรจุในบรรจุภัณฑ์ ผู้บริโภคควรสังเกตวันที่ผลิต และวันหมดอายุ ซึ่งมักแสดงอยู่บนฉลาก และบรรจุภัณฑ์ต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่ถูกทำลาย ไม่มีร่องรอยการเปิด หรือฉีกขาด และอาหารต้องเก็บอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมตลอดระยะเวลาการจัดจำหน่าย อาทิ ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ที่มีคุณภาพดี ควรผลิตจากแหล่งผลิตที่น่าเชื่อถือ และได้รับการรับรองคุณภาพจากหน่วยงานราชการ หรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับรองความปลอดภัยของอาหาร โดยสามารถสังเกตได้จากเครื่องหมายรับรอง GMP หรือ HACCP ที่แสดงบนฉลาก ซึ่งเป็นระบบประกันความปลอดภัยอาหารที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ผลิตอาหารรายนั้นได้รับการรับรองความปลอดภัยสำหรับการผลิตอาหาร ไม่มีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ก่อโรคที่มีอาหารเป็นพาหะ ไม่มีการปนเปื้อนด้วยยาปฏิชีวนะ ฮอร์โมน หรือสารเคมีอันตรายอื่นๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภค ยิ่งไปกว่านั้นข้อความบนฉลากต้องชัดเจน อ่านได้ง่าย และเพียงพอต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ ผู้บริโภคควรเลือกซื้อจากผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือ และได้รับการรับรองระบบคุณภาพ และระบบความปลอดภัยสำหรับการผลิตอาหาร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถพิจารณาได้จากการแสดงฉลากที่ถูกต้อง เหมาะสม และครบถ้วน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit