ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 60-65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

26 Feb 2018
ราคาน้ำมันยังคงได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบที่คาดจะเพิ่มขึ้น และอุปสงค์ที่ลดลงในช่วงการปิดซ่อมบำรุง

บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (26 ก.พ. – 2 มี.ค. 61)

ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มจะปรับตัวลดลงจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่คาดจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจำนวนแท่นขุดเจาะได้ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 52 แท่นจากต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้กำลังการผลิตของสหรัฐฯ ยืนอยู่เหนือ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ.61นอกจากนี้ การปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นคาดจะส่งผลกดดันต่ออุปสงค์น้ำมันดิบ ซึ่งทั้งสองปัจจัยนี้คาดว่าจะส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นและกดดันราคาน้ำมันดิบ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงหนุนจากกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก ซึ่งจะทำการปรับลดกำลังการผลิตไปอย่างต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีนี้ รวมถึงกำลังการผลิตจากเวเนซุเอลาได้ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังประเทศเผชิญหน้ากับวิกฤตเศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อ

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า หลังกำลังการกลั่นน้ำมันดิบสหรัฐฯ ได้ลดลงกว่า 1.7% มาอยู่ที่ 88.1% จาก 89.8% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งกำลังการกลั่นคาดจะปรับตัวลดลงอีกในเดือนมีนาคมตามฤดูกาลการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นทั่วโลกโดยเฉพาะสหรัฐฯ รวมถึงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น
  • ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบได้ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 52 แท่นจากต้นปี โดย Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 16 ก.พ. 61 ปรับเพิ่มขึ้น 1 แท่น มาอยู่ที่ 799 แท่น สอดคล้องกับกำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ที่ได้ปรับตัวสูงขึ้นเหนือ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน และมีแนวโน้มที่จะแตะระดับเหนือกว่า 11 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในสิ้นปีนี้
  • เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นและส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันดิบ หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้และคาดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ถึง 3 ครั้ง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นจะส่งผลให้นักลงทุนเพิ่มการลงทุนในตลาดพันธบัตรของสหรัฐฯ มากขึ้นและคาดจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่หนุนให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่ามากขึ้น
  • ผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกยังคงเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบต่อเนื่องจนถึงปลายปี 2561 และคาดจะยังคงความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตในระดับที่สูง ซึ่งในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ความร่วมมือของกลุ่มโอเปกในการปรับลดกำลังการผลิตปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 137 นำโดยการปรับลดของเวเนซุเอลาที่ได้เผชิญหน้ากับวิกฤตเศรษฐกิจ รวมถึงการบริหารจัดการของรัฐบาลที่ไม่เหมาะสม ซึ่งส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ เวเนซุเอลายังเผชิญกับการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ทำให้ประสบปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
  • ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ GDP ไตรมาส 4/60 สหรัฐฯ ดัชนีภาคการผลิตและบริการจีน ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐฯ ดัชนีภาคการผลิต (Markit PMI) ของยูโรโซน และดัชนีภาคการผลิต (Markit PMI) ของสหรัฐฯ

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (19 – 23 ก.พ. 61)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 63.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 67.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลง 1.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 420.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 1.8 ล้านบาร์เรล เนื่องจากการส่งออกน้ำมันดิบจากแคนาดามายังสหรัฐฯ โดยท่อขนส่งน้ำมันดิบ Keystone ยังคงอยู่ในระดับจำกัดจากปัญหาเชิงเทคนิค รวมถึง การส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นจากสภาวะ Backwardation ของตลาดน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันได้รับแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น หลังตลาดคาดธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจปรับอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ได้เพิ่มขึ้นมาสูงกว่าระดับ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน สอดคล้องกับปริมาณแท่นขุดเจาะที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาสู่ระดับสูงสุดในรอบ 3 ปีที่ ยังคงส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่อง