นายนพดล ศิริจงดี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ ในฐานะประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์ซีพีเอฟรักษ์นิเวศ เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ นับเป็นกิจกรรมแรกของปี 2561 ภายใต้โครงการ "ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง" เข้าสู่ปีที่ 3 โดยมีจิตอาสาซีพีเอฟ 500 คน ร่วมแรงร่วมใจกันเพาะกล้าไม้จำนวน 10,000 กล้า เพื่อเตรียมปลูกซ่อมและปลูกเสริมและสร้างฝายชะลอน้ำอีก 12 แห่ง เพื่อกักเก็บน้ำสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ผืนดิน ช่วยเพิ่มอัตราการรอดของต้นไม้ ซึ่งในปีนี้มีเป้าหมายเพาะกล้าไม้อีกจำนวน 2 แสนกล้า สร้างฝายชะลอน้ำ 21 แห่ง (จากปี 2559-2560 ที่เพาะกล้าไม้ไปแล้วจำนวน 348,244 กล้า สร้างฝายชะลอน้ำ 24 แห่ง) โดยจนถึงปี 2563จะมีฝายชะลอน้ำทั้งหมด 45 แห่ง
นายนพดล กล่าวย้ำว่า บริษัทมีเป้าหมายจะพัฒนา "โครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง" ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ของชาติแบบมีส่วนร่วม และพัฒนาสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดลพบุรี ซึ่งซีพีเอฟมอบหมายให้นักวิจัย คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) สำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนกในพื้นที่โครงการ รวมทั้งสำรวจชุมชน 5 หมู่บ้านรอบพื้นที่ด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อประเมินทางเลือกในการพัฒนาพื้นที่ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนในพื้นที่
ซีพีเอฟ ดำเนินโครงการ "ซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง" มาตั้งแต่ ปี2559 โดยในปี 2561 นี้ เข้าสู่ปี 3 ของโครงการฯ มีเป้าหมายปลูกป่าเพิ่มเติมอีก 1,200 ไร่ ต่อเนื่องจากปี 2559 - 2560 ที่ปลูกป่าไปแล้ว 3,171 ไร่ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (ปี 2559-2563) ปลูกป่าในพื้นที่เขาพระยาเดินธง 5,971 ไร่ ซึ่งบริษัทฯมุ่งมั่นในการมีส่วนร่วมคืนความสมดุลสู่ระบบนิเวศและปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ
ด้าน นายชาตรี รักษาแผน ผู้อำนวยการส่วนอำนวยการ สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ กล่าวว่า ภาคเอกชนมีส่วนสำคัญอย่างมากในการร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ เนื่องจากบริษัททั้งขนาดเล็กและใหญ่ที่ทำธุรกิจในประเทศไทยมีการใช้ทรัพยากรในประเทศ ดังนั้น บริษัทเหล่านี้จึงควรมีส่วนร่วมสร้างทรัพยากรของชาติ มีความตระหนักและรับผิดชอบตอบแทนสังคมในสิ่งที่ใช้ไป เพื่อให้มีทรัพยากรหมุนเวียนไว้ใช้อย่างยั่งยืน
" ซีพีเอฟเข้ามาสนับสนุนงบประมาณในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำแห่งนี้ เป็นความร่วมมือในลักษณะประชารัฐ ถือเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นต้นแบบในการพัฒนางานด้านป่าไม้ที่ภาครัฐจะดำเนินการร่วมกับเอกชน จุดประกายให้ภาคเอกชนในประเทศไทย ซึ่งมีอยู่หลายแสนบริษัทเข้ามาช่วยกันดูแลและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ" ผู้อำนวยการส่วนอำนวยการ สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ กล่าว
'โครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง' ภายใต้โครงการเขาพระยาเดินธง "ศูนย์การเรียนรู้เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี" เป็นโครงการที่ซีพีเอฟตั้งใจสานต่อภารกิจความยั่งยืนในเสาหลักด้านสิ่งแวดล้อม "ดินน้ำป่าคงอยู่" โดยร่วมกับกรมป่าไม้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน)และเครือข่ายภาคประชาสังคม สร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศป่าต้นน้ำของลุ่มน้ำป่าสัก
นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (The United Nations Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ในประเด็นการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ (เป้าหมายที่13) การปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริมการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน การบริหารจัดการป่าไม้ที่ยั่งยืน การต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย หยุดยั้งการเสื่อมโทรมของดินและฟื้นฟูสภาพดินและหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (เป้าหมายที่ 15)และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(เป้าหมายที่ 17)