สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 19-23 ก.พ. 61 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 26 ก.พ.-2 มี.ค. 61 โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

27 Feb 2018
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 2.24 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 66.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 2.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 62.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 1.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 61.88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 1.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 75.58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 1.98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 76.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • วันที่ 23 ก.พ. 61 บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย National Oil Corp. หรือ NOC ประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) ที่แหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Feel (กำลังการผลิต 130,000 บาร์เรลต่อวัน) ในเมือง Murzuq ของลิเบีย หลังพนักงานรักษาความปลอดภัยประท้วงผละงาน เพื่อเรียกร้องค่าจ้างและสวัสดิการเพิ่มเติม ทั้งนี้แหล่งน้ำมันดังกล่าวบริหารงานโดยบริษัท Mellitah (บริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย National Oil Corp. หรือ NOC กับบริษัท Eni ของอิตาลี) อนึ่งปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียเดือน ม.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 978,000 บาร์เรลต่อวัน
  • Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 ก.พ. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 420.5 ล้านบาร์เรล สวนทางกับผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.8 ล้านบาร์เรล และปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่Cushing ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.7 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 30 ล้านบาร์เรล ลดลงต่อเป็นสัปดาห์ที่ 9
  • เลขาธิการกลุ่ม OPEC นาย Mohammad Barkindo รายงานความร่วมมือ (Compliance) ในการลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของ OPEC และ Non-OPEC ในเดือน ม.ค. 61 อยู่ที่ 133 % สูงกว่าระดับค่าเฉลี่ยปี พ.ศ. 2560 ที่ 107 %
  • นาย Ayed Al Qahtani หัวหน้าฝ่ายวิจัยของ OPEC เผยว่าจากความร่วมมือในการลดกำลังการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตส่งผลให้ปริมาณสำรองน้ำมันดิบของประเทศOECD เดือน ม.ค. 61 อยู่เหนือระดับเฉลี่ย 5 ปี อยู่ที่ 74 ล้านบาร์เรล ลดลงมากเมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. 60 อยู่ที่ 340 ล้านบาร์เรล
  • Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและตลาด ICEที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 ก.พ. 61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 478 สัญญา มาอยู่ที่ 478,160สัญญา เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 สัปดาห์

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

  • Baker Hughes Inc. บริษัทลูกของ General Electric Co. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 23 ก.พ. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1 แท่น อยู่ที่ 799 แท่น ติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 5 และสูงสุดตั้งแต่เดือน เม.ย. 58
  • กระทรวงการคลังญี่ปุ่นรายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบ เดือน ม.ค. 61 อยู่ที่ 3.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ลดลงจากปีก่อน 4.6%) ขณะที่ Reuters รายงานโรงกลั่นในญี่ปุ่นมีแผนการปิดซ่อมบำรุงหน่วย Crude Distillation Unit (CDU) ช่วงไตรมาส 2/61 จำนวน 7 หน่วย ปริมาณการกลั่นรวม 930,000 บาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้โรงกลั่นในญี่ปุ่นมี CDU อยู่จำนวน 29 หน่วย กำลังการกลั่นรวม 3.52 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • InterContinental Exchange (ICE) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 ก.พ. 61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับ Net Long Position ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 19,640 สัญญา มาอยู่ที่ 523,295 สัญญา สู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 4 เดือน

แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ

ราคาน้ำมันดิบรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นหลังความวิตกของนักลงทุนต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เริ่มคลายตัวลงอย่างเด่นชัด เห็นได้จากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาวเริ่มลดลง และราคาทองคำเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงมากที่สุดตั้งแต่เริ่มต้นปี ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุน (Fund Flows) สู่ตลาดน้ำมัน อย่างไรก็ตาม Reuters รายงานว่านักลงทุนต่างปรับ Portfolio ช่วงปลายเดือนด้วยการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ แทนที่ตลาดหุ้นซึ่งน่ากังวลว่ามีความผันผวนสูงในระยะนี้ ทั้งนี้ นักลงทุนล้วนจับตาแถลงการณ์ครั้งแรกของนาย Jerome Powell ประธาน Fed คนใหม่ต่อคณะกรรมการทางการเงินของสภาคองเกรสสหรัฐฯ ในวันอังคารและวันพฤหัสบดีนี้ ซึ่งจะส่งสัญญาณต่อนโยบายการเงินได้ชัดเจนขึ้น หรือในทางหนึ่ง นักลงทุนมีข้อมูลมากขึ้นสำหรับคาดการณ์จำนวนครั้งในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายว่าเป็น 3 หรือ 4 ครั้งในปีนี้ ให้จับตาความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีซึ่งในวันที่ 23 ก.พ. 61 กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ออกมาตรคว่ำบาตรเพิ่มเติมครอบคลุมอุตสาหกรรมเดินเรือ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์จีนระงับการนำเข้าผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากเกาหลีเหนือทั้งหมดและจะเริ่มจำกัดการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูปในวันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 65.0-68.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 61.5-64.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 60.5-63.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินสัปดาห์ก่อนเพิ่มขึ้นจาก Petroleum Planning and Analysis Cell (PPAC) ของอินเดียรายงานอุปสงค์น้ำมันเบนซินในเดือน ม.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.5 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 17.8 ล้านบาร์เรล ประกอบกับ Global Security Operations Centre ของอินเดียรายงานว่าโรงกลั่นน้ำมัน Kochi (260,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Bharat Petroleum Corp. Ltd. (BPCL) ปิดหน่วย CDU ชั่วคราวจากเหตุเพลิงไหม้วันที่ 22 ก.พ. 61 ด้านปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 ก.พ. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 790,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 13.33 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 ก.พ. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 540,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 10.3 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกน้ำมันเบนซินของจีนเริ่มกลับเข้ามาขายในตลาด หลังวันหยุดเทศกาลตรุษจีน อาทิ China National Offshore Oil Corp. (CNOOC) ของจีนขายน้ำมันเบนซิน 92 RON ปริมาณ 332,000 บาร์เรล ส่งมอบ 15-16 มี.ค. 61 อีกทั้งปริมาณนำเข้าน้ำมันเบนซิน 90 RON ของอินโดนีเซีย ปี พ.ศ. 2560 ลดลงจากปีก่อน 19.5% อยู่ที่ 62 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 75.5-77.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลสัปดาห์ก่อนเพิ่มขึ้นจาก PPAC ของอินเดียรายงานอุปสงค์น้ำมันดีเซลในเดือน ม.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.4 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 49.9 ล้านบาร์เรล และ Platts รายงานโรงกลั่นน้ำมันในภูมิภาคตะวันออกหลายแห่งหยุดดำเนินการ เพื่อซ่อมบำรุง อีกทั้งผู้ค้าคาดอุปสงค์น้ำมันดีเซลในเอเชียเหนืออาจเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือน มี.ค. 61 เป็นต้นไป จากกิจกรรมการทำเหมืองแร่ การก่อสร้างและการขนส่ง เพิ่มขึ้นด้านปริมาณสำรองน้ำมันดีเซล PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 ก.พ. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 480,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 7.8 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Kuwait Petroleum Corp. (KPC) ของคูเวต ออกประมูลขายน้ำมันดีเซล 0.05% S ปริมาณ 298,000 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 10-11 มี.ค. 61 และ Essar Oil ของอินเดียออกประมูลขายน้ำมันดีเซล 0.05 % S ปริมาณ 525,000 บาร์เรล ส่งมอบ 17-21 มี.ค. 61 อนึ่งอุปสงค์น้ำมันดีเซลของจีนมีแนวโน้มลดลง เพราะกระทรวงเกษตรของจีนประกาศห้ามจับปลาในฤดูวางไข่ที่แม่น้ำเหลือง (Yellow River หรือ Huanghe) เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติทางน้ำช่วงระหว่าง 1 เม.ย. 61- 30 มิ.ย. 61 ประกอบกับ IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 ก.พ. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.39 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 9.1 ล้านบาร์เรล ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 75.5-78.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล