นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดงาน นิทรรศการ "จากท้องถิ่น สู่เมือง เลื่องชื่ออัตลักษณ์" พร้อมเปิดเผยว่า อัญมณีและเครื่องประดับเป็นอุตสาหกรรมศักยภาพที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ซึ่งช่างฝีมือไทยมีทักษะความชำนาญสูงได้รับการยอมรับในระดับสากล และในปีนี้ทางกระทรวงพาณิชย์ได้เน้นโปรโมตงานหัถตศิลป์ไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากลมากขึ้น แต่ก็จำเป็นต้องขายความเป็นไทยที่คนต่างชาติสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องเสริมสร้างความรู้เรื่องเทรนด์โลกแก่ช่างฝีมือไทยในท้องถิ่นต่างๆ เพื่อช่วยให้สามารถสร้างสรรค์เครื่องประดับที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า รวมถึงช่วยหาช่องทางการตลาดใหม่ๆ ให้ด้วย
ทั้งนี้ GIT ถือเป็นหน่วยงานสำคัญที่ดำเนินงานตามแผนดังกล่าวจนเห็นชัดเจนเป็นรูปธรรมแล้วในโครงการ "จากท้องถิ่น สู่เมือง เลื่องชื่ออัตลักษณ์" มีการส่งทีมงานผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งมีชื่อเสียงด้านงานฝีมืออัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อให้คำปรึกษาและร่วมกันพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ที่มีความร่วมสมัยมากขึ้น ซึ่งในงานนี้มีการแสดงผลงานของช่างฝีมือที่ร่วมโครงการจาก ๔ จังหวัดนำร่องได้แก่ เชียงใหม่ สุโขทัย เพชรบุรี และตำบลด่านเกวียน อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา
"เมื่อผสมผสานองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของช่างฝีมือไทยเข้ากับความรู้เรื่องดีไซน์และเทรนด์โลกของผู้เชี่ยวชาญจาก GIT ก็จะทำให้สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์เครื่องประดับที่มีความงดงาม ประณีตแบบไทย ในรูปแบบที่ตรงกับรสนิยมของลูกค้าในต่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น ช่วยให้ผู้ประกอบการในท้องถิ่นสามารถขยายฐานลูกค้าใหม่ได้" นายสนธิรัตน์ กล่าว
ด้านนางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบัน GIT กล่าวว่า GIT เป็นองค์กรของรัฐที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองคุณภาพอัญมณีและเครื่องประดับที่ได้รับความเชื่อถือในระดับสากล มีหลักสูตรอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรอย่างต่อเนื่อง และเป็นศูนย์รวมข้อมูลด้านอัญมณีและเครื่องประดับที่สมบูรณ์แบบมากที่สุดของประเทศไทย
"สำหรับผู้ประกอบการที่ร่วมโครงการ จากท้องถิ่น สู่เมือง เลื่องชื่ออัตลักษณ์ นั้น นอกจาก GIT จะจัดแสดงผลงานในบูธของสถาบันฯ แล้ว ยังได้นำผลงานต้นแบบจากผู้ร่วมโครงการอัตลักษณ์ฯ จากจังหวัดกาญจนบุรี เชียงใหม่ และตำบลด่านเกวียน อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ไปจัดโชว์ในนิทรรศการ New Faces ซึ่งเป็นพื้นที่ให้นัก-ออกแบบรุ่นใหม่ได้โชว์ฝีมือผ่านชิ้นงานสู่สายตาของคนทั่วโลก ที่มาชมงาน Bangkok Gems and Jewelry ครั้งนี้" นางดวงกมล กล่าว
ขณะเดียวกัน GIT ยังจัดนิทรรศการแสดงผลงานและจำหน่ายสินค้าของผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับที่ร่วม โครงการ "AEC+๖" เพื่อพัฒนาสินค้าและขยายตลาดในประเทศกลุ่มอาเซียนและคู่ค้าสำคัญอีก ๖ ประเทศ และงานสัมมนาเชิงวิชาการหัวข้อ "Ruby & Sapphire Treatments and Identification Decades of Advancement" พร้อมเปิดตัวหนังสือโดย รศ.ดร.วิสุทธ์ พิสุทธอานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบอัญมณี การสัมมนาหัวข้อ "การมีเครื่องหมายรับรองคุณภาพ (Hallmark) สำคัญอย่างไรต่อการเลือกซื้อเครื่องประดับ" โดยนายจักรพันธ์ สุวรรณวิจิตร การเสวนาหัวข้อเครื่องประดับอัตลักษณ์ไทย+เทรนด์พลอยสี โดย อ.นิวัฒน์ สิงหชนะชัยกุล และผู้ทรงคุณวุฒิ
นอกจากนี้ GIT ยังให้บริการคำปรึกษาและบริการอื่นๆ เช่น การตรวจสอบอัญมณีและโลหะมีค่า การเผยแพร่มาตรฐานอัญมณีและมาตรฐานสี พร้อมจำหน่ายหนังสือและของที่ระลึก และพิเศษสุดเพื่อฉลองครบรอบ ๒๐ ปี GIT ผู้ใช้บริการของสถาบันครบ ๕๐๐ บาท/ใบเสร็จ จะได้รับสิทธิการสมัครสมาชิกสถาบันฟรี
ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมและรับบริการของ GIT ได้ที่บริเวณชาเลนเจอร์ ฮอลล์ ๓ บูธ C ๒, ๔, ๕ และ D ๑, ๓, ๕ พร้อมชมนิทรรศการ "จากท้องถิ่น สู่เมือง เลื่องชื่ออัตลักษณ์" และร่วมฟังสัมมนาที่น่าสนใจได้ที่บูธนิทรรศการ บริเวณทางเข้าอาคารชาเลนเจอร์ ฮอลล์ ๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ในงาน Bangkok Gems and Jewelry ครั้งที่ ๖๑ ระหว่างวันที่ ๒๑-๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ เวลา ๑๐.๐๐-๑๘.๐๐ น. ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit