นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า SACICT ในฐานะหน่วยงานของรัฐ มีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนางานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนเป็นองค์กรในการรวบรวมองค์ความรู้ อนุรักษ์ และสืบสานคุณค่าแห่งหัตถศิลป์ไทย SACICT จึงมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้วยการต่อยอดภูมิปัญญาอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้งานหัตถศิลป์ไทยมีความร่วมสมัยเหมาะกับชีวิตประจำวัน (TODAY LIFE'S CRAFTS) รวมถึงการต่อยอดเชิงพาณิชย์ให้งานหัตถศิลป์ไทยก้าวสู่ระดับสากลได้อย่างมั่นคงงานอัตลักษณ์แห่งสยามในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 9 ภายใต้แนวคิด THAI WISDOM TRUE TREASURE มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกระแสการรับรู้ และส่งเสริมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยให้เป็นที่ยอมรับ สำหรับกลุ่มเป้าหมายทั้งชาวไทยและต่างประเทศมีความพิเศษและยิ่งใหญ่กว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ด้วยพื้นที่ที่เพิ่มขึ้น และจำนวนผู้เข้าร่วมจัดแสดงผลงานมากกว่าที่ผ่านมาถึงสามเท่า ภายในงานได้รวบรวมผลงานชั้นครูที่เปรียบเสมือนขุมทรัพย์แห่งภูมิปัญญาเชิงช่างจากทั่วประเทศกว่า 150 ราย ผ่าน 3 โซนหลัก ประกอบด้วย
โซนที่หนึ่ง The Masters Gallery "จากเวหาจรดบาดาล" ส่วนจัดนิทรรศการ จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2561 รวมทั้งสิ้น 25 ราย และ ส่วนนิทรรศการ "มรดกศิลป์" เพื่อเผยแพร่ผลงาน เกียรติประวัติ รวมถึงการถ่ายทอดแนวคิดแรงบันดาลใจในการทำงานหัตถกรรมของครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ในปีที่ผ่านมา กว่า 30 ชิ้นงาน อาทิเช่น "กลองบานอ" ผลงานของครูสุดิน ดอเลาะ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ประจำปี 2560 "งานแทงใบลาน" ผลงานของครูกุศล เรณุนันท์ ณ อยุธยา ครูศิลป์ของแผ่นดิน ประจำปี 2560 และ "เทริด-หน้าพราน" ผลงานของครูปรีชา เพชรสุก ครูช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2560
โซนที่สอง The Artisan's Workshop "หัตถกรรม..หัดทำมือ" ซึ่งเป็นส่วนกิจกรรมเวิร์คช็อปงานของ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม จัดขึ้นวันละ 6 รอบ รวมตลอดงาน จำนวน 24 รอบ อาทิเช่น "หน้ากากผีตาโขน" จากครูอภิชาติ คำเกษม ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2556 "ร้อยลูกปัดมโนราห์" จากคุณเนติพงษ์ ไล่สาม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2560 และ "จักสานป่านศรนารายณ์" จากคุณณัฐระวี เดื่อมขันธ์มณี ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2560 เป็นต้น
โซนที่สาม The Craftsmen Collections "ตลาดหัตถศิลป์" เป็นส่วนจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมของครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ในสาขาต่างๆ กว่า 150 คูหา แบ่งเป็น 4 โซนจำหน่าย ประกอบด้วย โซน"เริงลม หรรษา" (ประเภทการละเล่น หนังตะลุง เครื่องดนตรี) โซน "ภูษา ธารา" (ประเภทงานผ้า) และโซน "แผ่นดินทอง" (ประเภทหัตถศิลป์ชั้นสูง เครื่องทอง เครื่องเงิน) และโซน "เพลินไพร" (ประเภทงานไม้ หวาย จักสาน)
นอกจากนี้ ยังถือเป็นโอกาสสำคัญยิ่งของช่างฝีมือที่ร่วมสืบสานและส่งต่อองค์ความรู้ ภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมทุกแขนงจากบรรพบุรุษสู่คนรุ่นหลังที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ อันจะนำไปสู่การรับรู้และสร้างแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นใหม่ ให้ร่วมกันรักษาหัตถศิลป์ของชาติให้คงอยู่ SACICT จึงได้จัดพิธีมอบรางวัลเชิดชูเกียรติและจัดแสดงผลงานของผู้ที่ผ่านการคัดเลือกให้เป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาท ช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2561 รวมจำนวน 25 ราย ประกอบด้วย ครูศิลป์ของแผ่นดิน จำนวน 8 ราย ครูช่างศิลปหัตถกรรม จำนวน 8 ราย และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม จำนวน 9 ราย
สำหรับบรรยากาศในพิธีเปิดงานได้จัดให้มีการแสดงแฟชั่นโชว์ ชุด "Route to Treasures" ประกอบการขับร้องเพลงโดยศิลปินรับเชิญ คุณลีเดีย-ศรัณย์รัชต์ วิสุทธิธาดา ที่มาในชุดผ้าสไบปักเลื่อมทองสีปีกแมลงทับ ฝีมือการตัดเย็บอันประณีต งดงาม และทรงคุณค่าของ ครูสรพล ถีระวงษ์ ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2560 ด้านพัสตราภรณ์ พร้อมสวมใส่เครื่องประดับทองและเงินโบราณ รวมมูลค่าเกือบหนึ่งล้านบาท
ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมงาน "อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 9" ได้ระหว่างวันที่ 22 - 25 กุมภาพันธ์ 2561 ณ ห้อง Ballroom, Reception Hall และห้องประชุม 1-2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เวลา 10.00-20.00 น. สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1289 www.sacict.or.thและhttp://www.facebook.com/sacict