นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ระยะนี้อยู่ในช่วงฤดูหนาวต่อเนื่องฤดูร้อน บริเวณตอนบนของประเทศไทยมีฝนตกน้อยลง ทำให้หลายพื้นที่เสี่ยงต่อการประสบปัญหาภัยแล้ง ซึ่งการขาดแคลนน้ำส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน และภาคการเกษตร เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะการปฏิบัติตนเพื่อรับมือและลดผลกระทบ จากปัญหาภัยแล้ง ดังนี้ ภาคประชาชน จัดหาและซ่อมแซมภาชนะกักเก็บน้ำ ให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดี เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ ในช่วงฤดูแล้ง ใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ปิดก๊อกน้ำให้สนิททุกครั้งหลังใช้งาน ไม่เปิดน้ำไหลทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ ล้างจานในภาชนะรองน้ำ ไม่ใช้สายยางล้างรถ รวมถึงนำน้ำที่เหลือจากการใช้งานไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น อาทิ ทำความสะอาดบ้าน รดน้ำต้นไม้ เลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดน้ำ อาทิ ฝักบัวที่มีหัวฉีดขนาดเล็ก ก๊อกน้ำชนิดประหยัดน้ำ รวมถึงติดตั้งอุปกรณ์เติมอากาศ ที่หัวก๊อกน้ำ ฝักบัวหรือชักโครก เพื่อเพิ่มแรงดันน้ำและลดปริมาณการใช้น้ำ หมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ท่อส่งน้ำและก๊อกน้ำ หากมีการรั่วซึม ควรซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดี ภาคการเกษตร ติดตามสถานการณ์น้ำและแผนการจัดสรรน้ำในพื้นที่ พร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพราะหากใช้น้ำเกินปริมาณที่จัดสรร จะทำให้ไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับรักษาระบบนิเวศและ ผลิตน้ำประปา วางแผนเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน โดยงดทำนาปรังในช่วงฤดูแล้ง เลือกปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อย และมีตลาดรองรับ อาทิ เมลอน แตงโม หรือปรับเปลี่ยนไปเลี้ยงสัตว์ เช่น กบ ไก่ เป็นต้น เพื่อให้มีรายได้เสริมในช่วงที่ไม่สามารถทำการเกษตรหรือเพาะปลูกได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูก โดยเลือกปลูกพืชเศรษฐกิจ นำพลาสติกมาคลุมดินไว้ วางระบบน้ำหยดในการเพาะปลูกพืช จะช่วยลดปริมาณการใช้น้ำและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร สร้างระบบกักเก็บน้ำในพื้นที่การเกษตร โดยขุดลอกบ่อน้ำหรือคูน้ำเพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ พร้อมตรวจสอบคันกั้นน้ำ ให้อยู่ในสภาพแข็งแรง ใช้พลาสติกรองพื้นบ่อน้ำ หรือสระน้ำ จะช่วยลดการรั่วซึมของน้ำ ทั้งนี้ การใช้น้ำอย่างประหยัด และ นำน้ำที่เหลือจากการใช้งานไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น รวมถึงการนำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ จะช่วยให้มีน้ำอุปโภคบริโภค อย่างเพียงพอในช่วงฤดูแล้ง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit