แถลงข่าวไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับการจัดงาน "อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ ๙" ซึ่งจัดโดย ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ภายใต้แนวคิด "ขุมทรัพย์แห่ง ภูมิปัญญา" โดยการจัดงานในปีนี้มีความพิเศษและยิ่งใหญ่กว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ด้วยการรวบรวมสุดยอด
งานหัตถศิลป์ไทยจากฝีมือครูศิลป์ฯ ครูช่างฯ และทายาทฯ ระดับประเทศมารวมกันมากที่สุด มาจัดแสดงและจำหน่ายกว่า ๑๕๐ คูหา โดยแบ่งโซนการจัดงานออกเป็น ๓ โซนหลัก คือ
โซนที่หนึ่ง The Masters Gallery "จากเวหาจรดบาดาล" ส่วนจัดนิทรรศการ จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี ๒๕๖๑ รวมทั้งสิ้น ๒๕ ราย และนิทรรศการ "มรดกศิลป์" ที่รวบรวมสุดยอดผลงานหัตศิลป์ที่หาชมที่ไหนไม่ได้อีกแล้วกว่า ๓๐ ชิ้นงาน
โซนที่สอง The Artisan's Workshop "หัตถกรรม..หัดทำมือ" ส่วนกิจกรรมเวิร์คช็อปที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมงานได้เรียนรู้งานหัตศิลป์กับครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม อย่างใกล้ชิด ซึ่งจัดขึ้นทุกวัน วันละ ๓ รอบ รวมตลอดงานไม่น้อยกว่า ๑๒ รอบ
โซนที่สาม The Craftsmen Collections "ตลาดหัตถศิลป์" ส่วนจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม ของครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรมในสาขาต่างๆ กว่า ๑๕๐ คูหา แบ่งเป็น ๔ โซนจำหน่าย ประกอบด้วย โซน"เริงลม หรรษา" (ประเภทการละเล่น หนังตะลุง เครื่องดนตรี)โซน "ภูษา ธารา" (ประเภทงานผ้า) โซน "แผ่นดินทอง" (ประเภทหัตถศิลป์ชั้นสูง เครื่องทอง เครื่องเงิน)และโซน "เพลินไพร" (ประเภทงานไม้ หวาย จักสาน)
โดยบรรยากาศในงานแถลงข่าว SACICT ได้นำตัวอย่าง ๙ ผลงานหัตถศิลป์ที่มีความโดดเด่นและ คงความเป็นอัตลักษณ์แห่งสยามมาจัดแสดง ได้แก่ ผ้าปักกองหลวง, ผ้าทอไทลื้อ, ผ้าปะลางิง, เครื่องถมทอง-เงิน-คร่ำ, แหวนกลไก, ไม้แกะสลัก, หุ่นกระบอกไทย, เครื่องเงินสุโขทัย และเครื่องดนตรีไทย โดยคุณอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ได้ขึ้นเวทีร่วมสนทนากับ ครูสำเริง แดงแนวน้อย ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี ๒๕๖๑ ผู้ขึ้นชื่อในช่างสิบหมู่ศิลปากรกับการดำรงรักษา สืบสานงานแกะสลักไม้ตามแบบราชสำนักมากว่า ๖๒ ปี ตามแบบโบราณราชประเพณีดั้งเดิมด้วยฝีมือเชิงช่างชั้นสูง โดยเฉพาะเครื่องประกอบพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพบุคคลชั้นเจ้านายหลายพระองค์ ร่วมด้วย ครูปิยะ สุวรรณพฤกษ์ ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี ๒๕๖๐ ผู้ชุบชีวิต "ผ้าปะลางิง" ที่สาบสูญไปนานกว่าร้อยปีให้กลับมาสะท้อนเอกลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นมุสลิมชายแดนใต้ และครูชูเกียรติ เนียมทอง ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี ๒๕๖๑ กับผลงานโดดเด่น "แหวนกลไก" ภูมิปัญญาโบราณที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษเมืองจันทบุรี ที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้
ปิดท้ายด้วยการแสดงสุดประทับใจ ในชุดการแสดง "เชิดหุ่นคน" จากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ โดยมีอาร์ม (กรกันต์ สุทธิโกเศศ) จากเวที The Mask Singer ร่วมแสดงนำในบทรามสูรขว้างขวาน เมขลาล่อแก้ว พร้อมโชว์ผีมือการเดี่ยวระนาดเอกเพลงดังในหนังโหมโรง ซึ่งสร้างความประทับใจให้กับผู้ชมและแฟนคลับเป็นอย่างมาก โดยหนุ่มอาร์มได้เปิดเผยว่า "ในวันนี้มีโอกาสได้ชม ๙ ผลงานหัตศิลป์ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจในภูมิปัญญาฝีมือครูศิลป์ฯ ครูช่างฯ และทายาทฯ ทุกท่านเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อได้ชมกระจกคร่ำทอง ผลงานหัตถศิลป์ชั้นสูงโบราณที่มีความวิจิตรงดงามฝีมือของ "ครูอุทัย" ที่มีมูลค่ากว่า ๑,๓๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านสามแสนบาท) รวมถึงผลงาน "ผ้าปะลางิง" ฝีมือของ "ครูปิยะ" ที่มีมูลค่าผืนละกว่า ๕๐,๐๐๐ บาท (ห้าหมื่นบาท) ทำให้รู้สึกตื่นตาตื่นใจกับผลงานหัตถศิลป์ฝีมือคนไทยที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น และถือเป็นขุมทรัพย์แห่งภูมิปัญญาอันล้ำค่าที่สามารถสร้างมูลค่า สร้างอาชีพให้กับคนไทย จึงควรค่าแก่การส่งเสริมและอนุรักษ์ไว้เป็นสมบัติคู่ชาติสืบไป"
พบกับงาน "อัตลักษณ์แห่งสยาม" ครั้งที่ ๙ ภายใต้แนวคิด "ขุมทรัพย์แห่งภูมิปัญญา"(Thai Wisdom , True Treasure) พบสุดยอดงานหัตถศิลป์ไทยจากฝีมือครูศิลป์ฯ ครูช่างฯ และทายาทฯ ระดับประเทศ ที่หาชมได้ยากกว่า ๑๕๐ ผลงาน จัดแสดงและจำหน่ายพร้อมกัน ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๕ กุมภาพันธ์นี้ ณ ห้อง Ballroom, Reception Hall และห้องประชุม ๑-๒ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เวลา ๑๐.๐๐ - ๒๐.๐๐ น. สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Call Center ๑๒๘๙ www.sacict.or.th และ http://www.facebook.com/sacict
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit