โรคสมาธิสั้น เป็นโรคที่เกิดจากความบกพร่องของพัฒนาการ ส่งผลต่อการทำหน้าที่ของสมองทำให้มีปัญหาทางพฤติกรรมทางด้านสมาธิและการควบคุมตนเอง และยังส่งผลต่อครอบครัวและมีผลกระทบระดับประเทศจากการสูญเสียทรัพยากรบุคคลและงบประมาณการดูแลรักษาจำนวนมาก รวมทั้งในระบบบริการในระดับปฐมภูมิยังมีช่องว่าง ทั้งในด้านบุคลากรสาธารณสุขที่ยังขาดการฝึกอบรมทักษะในการบำบัดรักษาที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการติดตามผู้ป่วยร่วมกันระหว่างโรงเรียน บ้าน และชุมชนยังทำได้น้อย
นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า ในปี 2559 สวรส. ได้ต่อยอดงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาโรคสมาธิสั้นในเด็ก โดยสนับสนุนทุนวิจัยเรื่องการพัฒนารูปแบบการดูแลเด็กสมาธิสั้นแบบบูรณาการระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ปกครอง และครู ในเขตภาคเหนือ (ปีที่ 1) แก่สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต เพื่อประเมินและพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ของ รพ.ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิในสังกัดสาธารณสุขในเขตจังหวัดภาคเหนือ ในการคัดกรอง วินิจฉัย และส่งต่อเด็กโรคสมาธิสั้นเพื่อการรักษาและดูแลอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการพัฒนาและทดสอบเครื่องมือสำหรับดูแล ปรับพฤติกรรม และส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่เด็กสมาธิสั้นสำหรับผู้ปกครอง และครู รวมทั้งนำไปสู่การพัฒนาเป็นต้นแบบเครือข่ายการดูแลเด็กสมาธิสั้นร่วมกันระหว่างโรงพยาบาล โรงเรียน และบ้าน ซึ่งเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย ที่ผลวิจัยสามารถพัฒนาเครื่องมือและแนวทางการดูแลหรือการบริการเด็กสมาธิสั้นที่นับว่าเป็นแนวทางใหม่ของความร่วมมือร่วมกันของพ่อแม่ผู้ปกครอง ครู และบุคลากรทางการแพทย์ ที่เรียกว่า "Integrated ADHD Care Model"
นพ.สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนารูปแบบการดูแลเด็กโรคสมาธิสั้นแบบบูรณาการระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ปกครอง และครูในเขตภาคเหนือ (ปีที่ 1) กล่าวว่า ทีมวิจัยมีการทำงานบนฐานความคิดที่ว่า "โรคสมาธิสั้นในเด็ก เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ" จึงเกิดการพัฒนาแนวทางบริการเด็กโรคสมาธิสั้นแบบบูรณาการระหว่างผู้ปกครอง ครู และบุคลาการทางการแพทย์ ตั้งแต่กระบวนการคัดกรอง ส่งต่อ วินิจฉัย บำบัดรักษา และติดตามที่ชัดเจน เพื่อลดช่องว่างของปัญหาอย่างเป็นระบบ ซึ่งกรมสุขภาพจิต เตรียมพร้อมขยายผลนำแนวทางดังกล่าวมาใช้ในการดำเนินงานในปี 2561 ต่อไป ทั้งนี้ แนวทางการดูแลเด็กโรคสมาธิสั้นดังกล่าว เริ่มได้จากที่บ้านโดยพ่อแม่ผู้ปกครอง มีส่วนสำคัญในการสังเกตุความผิดปกติด้านอารมณ์ พฤติกรรมต่างๆ ควบคู่กับการใช้แบบประเมินคัดกรองโรคสมาธิสั้นหรือพฤติกรรม (SNAP-IV) ต่อจากนั้น ครูจะร่วมสังเกตความผิดปกติด้านอารมณ์และพฤติกรรมต่างๆ ควบคู่กับการประเมินด้วยแบบคัดกรองความบกพร่องทางการเรียนรู้และออทิซึม (KUS-SI, SNAP-IV) และติดตามผล โดย รพ.สต. จะประเมินอาการ ให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับโรค การปรับพฤติกรรมที่บ้านและโรงเรียน การลดปัจจัยเสี่ยง ติดตามอาการ และส่งต่อเพื่อปรับพฤติกรรมโดยนักจิตวิทยาควบคู่กับแพทย์วินิจฉัยโรคสมาธิสั้น
พญ.ชุตินาถ ศักรินทร์กุล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ คณะทำงานจัดทำคู่มือและหลักสูตรในโครงการวิจัยฯ ดังกล่าว อธิบายเพิ่มเติมว่า กลุ่มอาการหลักของโรคสมาธิสั้นแบ่งได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1.กลุ่มอาการขาดสมาธิ เช่น เหม่อลอย ขี้ลืม ไม่มีสมาธิในขณะทำงานหรือเล่น วอกแวกง่ายจากสิ่งเร้าต่างๆ เป็นต้น และ 2.กลุ่มอาการอยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่น เช่น มักยุกยิกอยู่ไม่สุข ปีนป่าย พูดมาก พูดแทรก อดทนรอคอยไม่ได้ เป็นต้น ในบางรายมีทั้งสองกลุ่มอาการผสมกัน หากไม่ได้รับการวินิจฉัยรักษา และปรับพฤติกรรมอย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยเร็ว จะส่งผลกระทบทางลบในเวลาต่อมาคือ ผลกระทบต่อตัวเด็ก ทำให้มีปัญหาด้านการเรียน สัมพันธภาพทางสังคม รวมไปถึงการปรับตัวเข้ากับผู้อื่น และมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย อาจส่งผลในระยะยาวต่อพัฒนาการในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ได้ เช่น มีบุคลิกภาพต่อต้านสังคม ติดยาเสพติด เกิดภาวะซึมเศร้า เป็นต้น ในด้านผลกระทบต่อครอบครัว ทำให้เกิดภาวะความเครียดในครอบครัวสูงขึ้น บุคคลในครอบครัวเสียโอกาสในอาชีพการงานเนื่องจากใช้เวลาไปกับการดูแลเด็ก ขาดความสงบสุขอาจนำไปสู่ปัญหาหย่าร้างได้มากขึ้น
รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเสริมในประเด็นเดียวกันนี้ว่า โรคสมาธิสั้นในเด็กเป็นโรคที่รักษาให้หายได้ โดยเด็กสามารถที่จะเรียนหนังสือหรือทำงานได้ โดยไม่ต้องรับประทานยา มีโอกาสประสบความสำเร็จและดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็ก ถือเป็นบุคคลสำคัญที่ต้องมีความเข้าใจและมีทัศนคติที่ถูกต้องก่อน ตลอดจนการร่วมปรับพฤติกรรมตามแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป
ภายใต้โครงการวิจัยฯ มีเครื่องมือสำหรับการดูแลเด็กสมาธิสั้นที่ผ่านการทดสอบประสิทธิผลแล้ว โดยเด็กสมาธิสั้นของผู้ปกครองที่ใช้เครื่องมือหรือผ่านหลักสูตร มีผลการเรียนและปรับตัวเข้ากับสังคมได้ดีขึ้น ทั้งนี้ นพ.พีรพล กล่าวทิ้งท้ายว่า ในช่วงปีใหม่ 2561 สวรส. และกรมสุขภาพจิต ได้ร่วมมอบของขวัญปีใหม่ 2561 โดยนำความรู้ที่ได้จากโครงการวิจัยฯ มาเผยแพร่แก่ประชาชนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นคู่มือการคัดกรองและปรับพฤติกรรมเด็กสมาธิสั้นสำหรับผู้ปกครอง หรือคู่มือสำหรับครูในการดูแลและส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก โดยสามารถค้นหาและดาวน์โหลดข้อมูลได้ทางเว็ปไซต์ของ สวรส. www.hsri.or.th และเว็ปไซต์ www.adhdthailand.com พร้อมมีบริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 นอกจากนั้น ในโครงการวิจัยฯ ยังมีสื่อและหลักสูตรสำหรับครูและบุคลากรทางการแพทย์เพื่อใช้เป็นแนวทางมาตรฐานการดูแลเด็กในโรงเรียนและโรงพยาบาล ทั้งหมดนี้ เพื่อให้คนไทยเกิดการเรียนรู้และเข้าใจต่อโรคสมาธิสั้นในเด็ก สามารถรับมือได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ลูกหลานและครอบครัวกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติและมีความสุข ตั้งแต่ปี 2561 นี้เป็นต้นไป
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit