นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ดำเนินโครงการสนับสนุนช่องทางการจำหน่ายสินค้าและผลผลิตของสหกรณ์ทั่วประเทศ โดยการส่งเสริมให้สหกรณ์ในพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีศักยภาพพร้อมเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงสินค้ากับสหกรณ์จากจังหวัดต่าง ๆ เปิดเป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าสหกรณ์ (Cooperative Distribution Center : CDC) เนื่องจากสหกรณ์การเกษตรนับว่าเป็นแหล่งผลิตสินค้าที่มีศักยภาพหลายชนิด ทั้งข้าวสาร นมพร้อมดื่ม ไข่ไก่ อาหารทะเล น้ำตาล น้ำมันพืช น้ำดื่ม และผลิตผลการเกษตรตามฤดูกาล เช่น หอมกระเทียม ผักและผลไม้ ซึ่งมีคุณภาพได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค "ศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์จะทำหน้าที่ในการรองรับผลผลิตและสินค้าจากสหกรณ์ในจังหวัดต่าง ๆ มากระจายสู่ผู้บริโภคในจังหวัดของตนเอง ซึ่งทำให้ลดขั้นตอนการขนส่งและสามารถจำหน่ายสินค้าได้ราคาที่ยุติธรรม และยังช่วยให้ผู้บริโภคในชุมชนสามารถเข้าถึงสินค้าสหกรณ์ได้ง่ายและทั่วถึงมากขึ้น
ปัจจุบันมีศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ทั่วประเทศกระจายอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ จำนวน 124 แห่ง ซึ่งในปี 2560 ที่ผ่านมา ศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ทั่วประเทศสามารถสร้างยอดจำหน่ายรวม 6,660,720,718 บาท โดยแบ่งเป็นสินค้า 5 ประเภทหลัก ๆ เรียงตามลำดับยอดจำหน่ายสูงสุดได้แก่1.สินค้าอุปโภค - บริโภค ยอดจำหน่าย 2,418,456,046 บาท 2.ปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย เครื่องมืออุปกรณ์การเกษตร เมล็ดพันธ์ ยอดจำหน่าย 2,257,703,729 บาท 3.สินค้าอื่น ๆ ยอดจำหน่าย 1,042,551,403 บาท 4.สินค้าของสหกรณ์ที่ผลิตขึ้นเอง ทั้งข้าวสาร น้ำดื่ม กาแฟ นม รวม 899,114,197 บาท และ5.ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป สินค้าหัตถกรรมและผลิตภัณฑ์ประเภทผ้าไหมผ้าฝ้าย ยอดจำหน่ายรวม 42,895,343 บาท ซึ่งสหกรณ์ที่มียอดจำหน่ายสูงสุด ได้แก่ 1.ปัจจัยการผลิตทางการเกษตร และสินค้าสหกรณ์ของสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.ชลบุรี จำกัด 2.ผลิตภัณฑ์สินค้าแปรรูปของชุมนุมสหกรณ์การเกษตรอุตรดิตถ์ จำกัด 3.สินค้าอุปโภค - บริโภคของร้านสหกรณ์จังหวัดตราด จำกัด และ 4.สินค้าอื่นๆ ของสหกรณ์การเกษตรเมืองเชียงราย จำกัด
ในปี 2561 กรมส่งเสริมสหกรณ์จะสนับสนุนการขยายเครือข่ายของศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์เพื่อช่วยยกระดับการดำเนินธุรกิจของศูนย์ฯ ให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น และจะดำเนินการผ่าน "โครงการพัฒนาสหกรณ์ภาคการเกษตร เป็นองค์กรหลักระดับอำเภอ" เพื่อส่งเสริมให้สหกรณ์การเกษตรระดับอำเภอทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการให้บริการสมาชิกและเกษตรกรในการช่วยยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทางการเกษตร เช่น เป็นร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ เป็นศูนย์กลางรับซื้อและรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรจากสมาชิกและเกษตรกรในพื้นที่ เป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ด้านงานสหกรณ์ และเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานราชการเพื่อส่งผ่านนโยบายของรัฐบาลไปสู่เกษตรกรในพื้นที่ และยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ระดับอีกหน้าที่หนึ่งด้วย โดยศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ระดับอำเภอต้องสร้างเครือข่ายกระจายสินค้าไปยังร้านค้าปลีกของชุมชน ทั้งที่เป็นร้านค้าชุมชนและร้านค้ากองทุนหมู่บ้านในอำเภอ รวมถึงสนับสนุนให้สมาชิกสหกรณ์เปิดจุดจำหน่ายสินค้าในลักษณะร้านค้าปลีกในระดับตำบลหรือหมู่บ้าน เพื่อเพิ่มช่องทางในการกระจายสินค้าให้เข้าถึงชาวบ้านชุมชนต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นและยังช่วยเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกสหกรณ์ได้อีกทางหนึ่งด้วย
อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ยังกล่าวต่อด้วยว่า กรมฯยังคงจัดกิจกรรมที่ช่วยต่อยอดธุรกิจให้กับศูนย์ฯ โดยเน้นเรื่องการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้า และสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าการเกษตร ด้วยการส่งเสริมให้สหกรณ์นำเครื่องหมายการค้าประเภทบริการ ที่ได้รับการจดทะเบียนกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์แล้ว เป็นสื่อกลางในการดึงดูดและสร้างการยอมรับให้กับประชาชนได้เลือกซื้อสินค้าและบริการจากสหกรณ์ รวมถึงส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์สินค้าสหกรณ์ผ่านออนไลน์ และ Social Network อาทิ Line Facebook และ Website ต่างๆ ด้วย ทั้งนี้ ยอดจำหน่ายสินค้าสหกรณ์ที่เพิ่มสูงขึ้นในปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการบริหารจัดการที่เน้นการนำระบบโลจิสติกส์ (Logistic) มาเป็นหลักในการบริหารจัดการสินค้าสหกรณ์ ด้วยวิธีการรวมซื้อและรวมขาย ซึ่งเป็นการช่วยลดต้นทุนราคาสินค้าและการรวมกันขายยังเป็นการสร้างอำนาจในการต่อรองให้กับเกษตรกร สร้างประโยชน์ร่วมกันทั้งผู้ซื้อและผู้ขายและยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยผลักดันธุรกิจของศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาที่ผ่านมา และคาดว่าธุรกิจดังกล่าวยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอนาคตต่อไป