ขับเคลื่อนมาตรการฟื้นฟูผู้ต้องขัง พร้อมเชิญสังคมร่วมให้โอกาส สร้างคนดีคืนสู่ชุมชน

25 Dec 2017
สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับโครงการกำลังใจ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และกรมราชทัณฑ์ ผสานพลังร่วมสร้างมิติใหม่ เดินหน้าผลักดันมาตรการฟื้นฟูผู้ต้องขัง (Rehabilitation) เตรียมความพร้อมคืนคนดีสู่สังคม ผ่านกระบวนการฟื้นฟูพฤตินิสัย ความรู้ ความสามารถ และทักษะอย่างเป็นระบบในเรือนจำ และก้าวต่อไปอีกขั้นด้วยการเชิญชวนสังคมมีส่วนร่วม ในการเปิดใจรับผู้พ้นโทษที่ปรับตัวเป็นคนดี ให้โอกาสอยู่ร่วมสังคมและสร้างงานสร้างอาชีพ (Reintegration) โดยเชื่อมั่นว่าแนวทางดังกล่าวข้างต้น จะมีส่วนช่วยลดการกระทำผิดซ้ำ สร้างสังคมที่ดีและปลอดภัย เป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
ขับเคลื่อนมาตรการฟื้นฟูผู้ต้องขัง พร้อมเชิญสังคมร่วมให้โอกาส สร้างคนดีคืนสู่ชุมชน

เนื่องในโอกาสครบรอบ 7 ปี การรับรอง "ข้อกำหนดกรุงเทพ" (ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำความผิดหญิง) จากการริเริ่มของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่ทรงเล็งเห็นความจำเป็นในการบริหารจัดการเรือนจำและผู้ต้องขังโดยให้ความสำคัญต่อความแตกต่างทางเพศสภาวะ ซึ่งกลายเป็นข้อมติและแนวปฏิบัติที่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติตั้งแต่ พ.ศ. 2553 ทางสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับโครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา จัดเสวนาภายใต้หัวข้อ "ก้าวที่พลาดกับโอกาสในการแก้ไข มิติใหม่แห่งความร่วมมือ เพื่อช่วยเหลือผู้ต้องขังหลังพ้นโทษ" เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ครอบคลุมทั้งส่วนงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และเป็นภาคต่อของการขับเคลื่อนการคืนคนดีสู่ชุมชน โดยเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้มารับรู้เพื่อเกิดความตระหนักในบทบาท และมีส่วนร่วมในการคืนโอกาสและชีวิตใหม่ให้กับผู้ที่เคยผิดพลาด

การเสวนาในหัวข้อดังกล่าวมีผู้แทนจากส่วนงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาสังคมมาร่วมให้ข้อมูลหลายท่าน ประกอบด้วย พันตำรวจเอกณรัชต์ เศวตนันท์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายพิทยา จินาวัฒน์ ที่ปรึกษาสำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา นางสาวมุกดา แก้วมุกด์ หัวหน้ากลุ่มการช่วยเหลือและคุ้มครองสวัสดิภาพ กรมการพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ดร.ณัฐนรินทร์ เนียมประดิษฐ์ นายกสมาคมการค้าส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ SME นายสุนิตย์ เชรษฐา สถาบัน Change Fusion นายสุทธิศักดิ์ สินเจริญ สินเจริญบราเธอร์ส นางเนาวรัตน์ ธนะศรีสุธารัตน์ ร้านนวดลีลา จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินรายการโดย ดร. ณัฏฐา โกมลวาทิน โดยมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกว่า 150 คน ประกอบด้วยตัวแทนจากหลายองค์กร เช่น กรมราชทัณฑ์ เรือนจำและทัณฑสถานต่างๆ กรมคุมประพฤติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมด้วยบริษัทเอกชนและภาคประชาสังคม รวมทั้งมีการถ่ายทอดให้ผู้สนใจได้รับชมผ่าน Facebook Live ของ TIJ

จากสถิติในรอบ 10 ปีของผู้ต้องขังหญิงจากข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ระบุว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังหญิงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 มีจำนวนผู้ต้องขัง 42,772 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ซึ่งมีจำนวนผู้ต้องขัง 26,321 คน เป็นเท่าตัว นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ต้องขังหญิงเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากสหรัฐฯ จีน รัสเซีย และหากเทียบกับประชากร 100,000 คน ถือว่าประเทศไทยมีอัตราส่วนผู้ต้องขังหญิงเป็นอันดับ 1 ของโลก อย่างไรก็ดี ผู้ต้องขังหญิงส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับคดีการเสพ และการค้ายาเสพติดในฐานะผู้ค้ารายย่อย ในขณะเดียวกันผู้หญิงในสังคมไทย ก็มีบทบาท เป็นแม่และเป็นลูกที่มีหน้าที่ดูแลบุพการี การกระทำผิดและเข้าสู่เรือนจำของผู้หญิง จึงส่งผลกระทบต่อผู้ที่ต้องพึ่งพิงอีกหลายคนในครอบครัว และการกลับสู่สังคมโดยไม่ต้องกลับมาอยู่ในวังวนของการกระทำผิดจึงมีความสำคัญยิ่ง

ทั้งนี้ จากข้อมูลอัตราผู้กระทำความผิดซ้ำโดยกระทรวงยุติธรรม เดือนพฤศจิกายน 2560 พบว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2557 ประเทศไทยมีผู้พ้นโทษที่กระทำความผิดซ้ำภายใน 1 ปี ประมาณ 14% และภายใน 3 ปี ราว 27% โดยสาเหตุของการกระทำความผิดมาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งขาดการยอมรับจากสังคมภายหลังพ้นโทษ ทั้งนี้ จากผลการวิจัยหลายฉบับพบว่า "โอกาสในการทำงาน" เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เคยต้องโทษเริ่มต้นชีวิตใหม่หลังพ้นโทษได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดความเสี่ยงที่จะกระทำความผิดซ้ำ

ในวงเสวนามีการพูดคุยถึงการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ต้องขังด้วยการสนับสนุนด้านการศึกษา ควบคู่ไปกับการฝึกอาชีพตามความถนัดและสนใจ มีส่วนสำคัญที่จะทำให้ผู้ต้องขังมีทางเลือกในการใช้ชีวิตมากขึ้นเมื่อพ้นโทษ อย่างไรก็ดี โอกาสในการกลับคืนสู่สังคมของผู้ต้องขังจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสังคมให้การยอมรับ และยอมให้พวกเขากลับเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ไม่ใช่เพียงการใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีความแปลกแยกเท่านั้น หากยังรวมถึงการประกอบอาชีพหรือการกลับสู่ตลาดแรงงานเช่นเดียวกับคนทั่วไป ซึ่งปัจจุบันยังเปิดกว้างไม่มากพอ ดังนั้น การแสวงหาแนวทางความร่วมมือระหว่างเรือนจำ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่ชัดเจน มีการสอดประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพ จะก่อให้เกิด "สังคมแห่งการให้โอกาสและไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง" และเป็นการสร้างสังคมที่ดีสำหรับทุกคน

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวว่า "แม้โทษจำคุกจะเป็นกลไกสำคัญของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา แต่ผลกระทบของการจำคุกก็อาจกลายเป็นตราบาปของผู้ต้องขัง ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องขังหญิงหรือชาย ผมเชื่อว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่สังคมสามารถหยิบยื่นให้ได้ก็คือ โอกาส โอกาสที่จะทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกในครอบครัว โอกาสที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมอีกครั้งโดยไม่มีตราบาป TIJ จึงพยายามผลักดันให้เรือนจำทั่วประเทศนำข้อกำหนดกรุงเทพไปปฏิบัติ เพื่อแก้ไข ฟื้นฟู ผู้กระทำผิดผ่านกิจกรรมและโปรแกรมการพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพต่างๆ ควบคู่ไปกับการปรับสภาพจิตใจ ทัศนคติ และพฤติกรรมของผู้ต้องขังให้เป็นคนที่ดีกว่าเดิม เพื่อช่วยสร้างพลังด้านบวกให้พวกเขากลับใช้ชีวิตในสังคมได้โดยไม่หวนมากระทำความผิดอีก"โครงการกำลังใจกับการคืนคนดีสู่สังคม

ในการคืนคนดีสู่สังคม โครงการกำลังใจ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา นับว่าได้เป็นองค์กรที่บุกเบิกกิจกรรมด้านนี้มาเป็นระยะเวลานาน โครงการกำลังใจมีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือผู้ที่ต้องการโอกาสในสังคมไทย ด้วยกิจกรรมที่ช่วยเสริมและไม่ซ้ำซ้อนกับสิ่งที่ทางราชการได้ดำเนินการอยู่แล้ว โดยมีกิจกรรมเด่นเป็นการปรับปรุงสวัสดิการพื้นฐานในเรือนจำให้มีความเหมาะสมต่อผู้ต้องขังหญิงโดยเฉพาะผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ และเด็กติดผู้ต้องขัง (เด็กที่คลอดในคุก) และยังพัฒนาต่อไปยังโครงการฝึกอาชีพ ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ต้องขัง เพื่อให้สามารถออกไปประกอบอาชีพได้ภายหลังจากการพ้นโทษเรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดกรุงเทพ ประจำปี 2560

ในงานเสวนาได้มีการมอบรางวัลเรือนจำต้นแบบประจำปี 2560 โดยในปีนี้ได้มีการมอบประกาศนียบัตรเรือนจำต้นแบบเพิ่มอีก 4 แห่งเป็นเรือนจำในภาคเหนือทั้งหมด ประกอบด้วยเรือนจำกลางเชียงราย เรือนจำอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เรือนจำกลางตาก และทัณฑสถานหญิงพิษณุโลก เพิ่มเติมจากเรือนจำต้นแบบที่มีอยู่เดิม 6 แห่ง ได้แก่ เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ทัณฑสถานหญิงชลบุรี และเรือนจำกลางสมุทรสาคร ทำให้ประเทศไทยมีเรือนจำต้นแบบรวมทั้งสิ้น 10 แห่ง

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายถึงวาระการครบรอบ 7 ปีข้อกำหนดกรุงเทพว่า "จุดเริ่มต้นของ TIJ เกิดขึ้นเพื่อรองรับข้อกำหนดกรุงเทพ โดยหนึ่งในภารกิจหลักของเรา คือการส่งเสริมการปฏิบัติที่ดีต่อผู้ต้องขังทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน ให้เป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยโครงการสำคัญที่ TIJ ได้ดำเนินการร่วมกับกรมราชทัณฑ์ คือโครงการเรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดกรุงเทพ เพื่อส่งเสริมศักยภาพเจ้าหน้าที่ในการนำเอาข้อกำหนดกรุงเทพไปปรับใช้ และส่งเสริมให้เกิดเรือนจำและทัณฑสถานหญิงที่สามารถนำข้อกำหนดกรุงเทพมาปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตในเรือนจำและอนาคตของผู้ต้องขัง นำไปสู่การสร้างสังคมที่ดีอย่างยั่งยืน"