ดร. วิวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ศูนย์ศึกษาฯ มีจำนวน 6 แห่ง ทั่วประเทศ โดยศูนย์ศึกษาพัฒนาเขาหินซ้อนฯเป็นศูนย์ศึกษาฯแห่งแรกของประเทศ สำหรับการมาตรวจเยี่ยมในครั้งนี้ เพื่อมาศึกษาการดำเนินงานและมาให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานของศูนย์ฯ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินงานของศูนย์ฯ มีความเข้มแข็ง สืบสานงานตามศาสตร์พระราชาได้อย่างยั่งยืน จึงเห็นควรเชิญชวนผู้ที่เคยทำงานรับใช้สนองพระราชดำริในหลวง ร. 9 ในโครงการพระราชดำริต่างๆ มาร่วมกันพัฒนาสืบสานงานของพระองค์ท่าน เพื่อให้องค์ความรู้เหล่านี้ได้แพร่ขยายไปยังรุ่นลูกหลาน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชน จึงต้องมาหารือแนวทางร่วมกันว่าจะขยายผลองค์ความรู้ไปยังเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆได้อย่างไรบ้าง
"วันนี้ได้มาศึกษาและระดมความคิดเห็นร่วมกัน ตลอดทั้งทบทวนการดำเนินงานของศูนย์ฯ ในช่วงที่ผ่านมา ว่าจะสามารถต่อ -เติม -แต่ง ได้อย่างไร ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายกฤษฎา บุญราช) ที่ต้องการให้ต่อเติมในโครงการที่ดีอยู่แล้วให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยจะพัฒนาศูนย์ศึกษาฯทุกศูนย์ให้มีความสมบูรณ์และเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อขยายองค์ความรู้ส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยจะระดมภาคส่วนต่างๆ มาบูรณาการทำงานร่วมกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อร่วมสืบสานศาสตร์ของพระราชา ช่วยให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ดีขึ้น และมีรากฐานที่มั่นคง" ดร. วิวัฒน์กล่าว
ทั้งนี้ ศูนย์ศึกษาพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ได้รับการสถาปนาจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2522 ในคราวเสด็จพระราชดำเนินมาเปิดศาลพระบวรราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีเนื้อที่ทั้งหมด 1,895 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรม 707 ไร่ พื้นที่ป่า 698 ไร่ น้ำ 162 ไร่ และสิ่งก่อสร้างอาคารสำนักงาน328 ไร่ ต่อมาได้พระราชทานนามว่า "ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ตลอดระยะเวลา 38 ปี ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ได้ดำเนินการศึกษาวิจัย และพัฒนาเป็นองค์ความรู้ที่โดดเด่นจำนวน 13 หลักสูตร และได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระองค์ท่าน ไปขยายผลในพื้นที่หมู่บ้านรอบศูนย์ฯ รวม 43 หมู่บ้าน 3 ตำบล คือ ตำบลเกาะขนุน ตำบลเขาหินซ้อน ตำบลบ้านซ่อง และพื้นที่ขยายผลองค์ความรู้รวม 11 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดลพบุรี สระบุรี นครนายก ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานีนนทบุรี กรุงเทพมหานคร สระแก้ว ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา ซึ่งผลสำเร็จจากการขยายผลของศูนย์สู่เกษตรกรทำให้เกิดกลุ่มอาชีพการเกษตรและกลุ่มเกษตรอินทรีย์จำนวนมาก นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน การเพาะเห็ด การเลี้ยงแพะ การเลี้ยงกบ และการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร รวมจำนวน 16 แห่ง
หลังจากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางมาเยี่ยมชมและพบปะเกษตรกรในโครงการโคกหนองนาโมเดลกลุ่มเกษตรอินทรีย์ ณ ศูนย์เรียนรู้ด้านการแปรรูปพืชผักและสมุนไพร ของนายนิรุจศรีเกษม บ้านเลขที่ 193/1 หมู่ 3 ต.บ้านซ่อง อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา และศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรผสมผสาน และกลุ่ม Young Smart farmer บ้านนางปรานี สังอ่อนดี เลขที่ 24 หมู่ 5 ต.บ้านซ่อง อ.พนมสารคามจ.ฉะเชิงเทรา
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit