นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมาย กพร.เร่งดำเนินการฝึกทักษะคนทำงานให้สอดรับกับความต้องการ โดยเฉพาะ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ป้อนนิคมอุตสาหกรรม และระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ตามนโยบายของรัฐบาลก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งในส่วนนี้ กพร.ได้สั่งการไปยังพื้นที่ สำรวจข้อมูลความต้องการแรงงาน ประกอบด้วย ความต้องการด้านทักษะ ปริมาณแรงงานที่ต้องการในแต่ละตำแหน่ง การตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติหรือความต้องการใช้บริการด้านมาตรฐานฝีมือแรงงาน พร้อมระบุสาขาที่ต้องการทดสอบฯ และจะสามารถสรุปผลได้ภายใน 15 มกราคม 2561 นี้
การสำรวจข้อมูลดังกล่าวเป็นการหาข้อมูลแบบครบวงจร โดยนำข้อมูลจากหน่วยผลิตคือสถาบันการศึกษา สถานประกอบกิจการที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม และระเบียงเศรษฐกิจ มาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาทักษะคนทำงาน ทั้งแรงงานใหม่และคนทำงานที่อยู่ในสถานประกอบกิจการให้ตรงกับความต้องการ ในส่วนที่เป็นแรงงานใหม่ บูรณาการร่วมกับสถาบันการศึกษา โดยเน้นกลุ่มอาชีวะศึกษา ระดับ ปวช. ปวส. หรือปริญญาตรี ปีสุดท้าย ได้รับการฝึกเสริมทักษะด้านเทคโนโลยีในสาขาที่เกี่ยวข้อง และเน้นภาคปฏิบัติให้มากขึ้น ทั้งนี้จะให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมในการฝึกภาคปฏิบัติด้วย เพื่อให้ฝึกทักษะแรงงานใหม่นั้นตรงกับความต้องการอย่างแท้จริง
นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า แรงงานที่อยู่ในสถานประกอบกิจการอยู่แล้ว ทั้งที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม หรืออยู่ในเขตเศรษฐกิจ EEC รวมไปถึงสถานประกอบกิจการอื่นๆ ที่อยู่ทั่วประเทศ ได้มอบหมายให้หน่วยงานของ กพร.ที่อยู่ในพื้นที่ สำรวจความต้องการพัฒนาทักษะให้กับพนักงาน พร้อมกับนำหลักสูตรที่กพร.มีบริการ โดยเฉพาะหลักสูตรด้านเทคโนโลยีชั้นสูง แจ้งให้สถานประกอบกิจการสามารถนำไปใช้ในการฝึกพนักงานได้ด้วย ซึ่งค่าใช้จ่ายในการอบรมสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ด้วย อีกทั้งยังมีการให้กู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ปัจจุบันเป็นช่วงปลอดดอกเบี้ย หรือ กรณีส่งพนักงานเข้ารับการทดสอบและจ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ จะได้รับเงินอุดหนุนหรือช่วยเหลือ 1,000 บาทต่อคน ทั้งนี้ไม่เกินปีละ 100,000 บาท รายละเอียดการให้เงินอุดหนุนหรือช่วยเหลือในด้านต่างๆ แก่ผู้ประกอบกิจการนั้น จะมีการจัดสัมมนาชี้แจงในวันที่ 27 ธันวาคม นี้
ในปี 2561 เป้าหมายการพัฒนาทักษะให้กับแรงงานมีหลายโครงการเพื่อขับเคลื่อนแรงงานสู่ไทยแลนด์ 4.0 รวมกว่า 118,000 คน ประกอบด้วย โครงการเพิ่มศักยภาพแรงงานรองรับไทยแลนด์ 4.0 จำนวน 98,800 คน การฝึกอบรมเทคโนโลยีชั้นสูงรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตอีก 10,000 คน และการพัฒนาทักษะเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษอีก 9,200 คน ซึ่งเมื่อผลสำรวจความต้องการเรียบร้อย กพร.จะปรับแผนการฝึกให้สอดคล้องกับความต้องการต่อไป อธิบดี กพร.กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit