ผลงานความสำเร็จของ วว. ในการพัฒนาพื้นที่ภาคเหนือ ที่นำมาร่วมจัดแสดงนิทรรศการในกิจกรรมดังกล่าว ประกอบด้วยโครงการพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์โอทอปภาคเหนือโดยใช้กลไกคูปองวิทย์เพื่อโอทอป จำนวน 2 ราย ได้แก่ 1.ฟาร์มเห็ดหลินจือบ้านราชพฤกษ์ จ.พิษณุโลก วว. พัฒนากระบวนการผลิตชาพร้อมดื่มจากเห็ดหลินจือและบรรจุภัณฑ์ 2.ชุมชนสุขสวัสดิ์ จ.ลำปาง วว. พัฒนาปุ๋ยอินทรีย์เคมีชนิดน้ำจากสิ่งขับถ่ายไส้เดือนให้เป็นปุ๋ยอินทรีย์เคมีคุณภาพสูงสำหรับไม้ผลและพืชกินหัว มีธาตุอาหารครบตามความต้องการของพืช โดยใช้สายพันธุ์ไส้เดือนในเขตพื้นที่ภาคเหนือ
โครงการพัฒนาเกษตรกรด้วย วทน. (STI for SMART Agriculture : SSA) จำนวน 1 ราย ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนอาชีพบ้านโนนใน จ.กำแพงเพชร ซึ่ง วว. ได้พัฒนาเตาชีวมวลประหยัดพลังงานสำหรับผลิตกล้วยทอดจำหน่ายเชิงพาณิชย์ มีประสิทธิภาพผลิตความร้อนด้วยเชื้อเพลิงถ่านที่มีราคาต่ำกว่าเชื้อเพลิงแก๊สหุงต้ม ลดต้นทุนเชื้อเพลิงลงถึง 3 บาทต่อกิโลกรัมกล้วย ลดเวลาในการผลิต (จากเดิมการกวนกล้วย 30 กิโลกรัม จะใช้เวลา 3 ชั่วโมง 30 นาที แต่เมื่อใช้เตาชีวมวลที่พัฒนาโดย วว. จะใช้เวลา 2 ชั่วโมงเท่านั้น) มูลค่าการประหยัดค่าพลังงานในการผลิตกล้วยทอดเท่ากับ 88.33 บาท ต่อการผลิตกล้วยทอด 1 กิโลกรัม มูลค่าการประหยัดเวลาในการผลิตกล้วยทอดเท่ากับ 1.875 บาท ต่อการผลิตกล้วยทอด 1 กิโลกรัม
โครงการพัฒนาผู้ประกอบการ TISTR-ITAP จำนวน 1 ราย ได้แก่ บริษัทจุลไหมไทย จำกัด จ.เพชรบูรณ์ วว. วิจัยและพัฒนาการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชนิดเม็ดและชนิดน้ำจากกระบวนการผลิตปลาส้ม