นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล ในฐานะผู้จัดการหน่วยธุรกิจ BU กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ที่ผ่านมา หน่วยธุรกิจ (BU) กยท. ได้จัดประชุมภายใต้ชื่อ "ใต้หล้ารวมเป็นหนึ่ง" โดยได้ร่วมกับบริษัท เลย์เท็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนจากภาคเอกชน และ สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางกว่า 42 สถาบันจากทั่วประเทศ มาหารือเพื่อสร้างความเข้าใจในเชิงการดำเนินธุรกิจแปรรูปหมอนยางพาราร่วมกัน ทั้งในเชิงการจัดกลุ่มสินค้าตามความสามารถในการผลิตและรูปลักษณ์ภายนอก การกำหนดมาตรฐานการผลิต การจัดกลุ่มทางการตลาด รวมถึงการรวบรวมชื่อสถาบันที่มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการ ซึ่งได้รับผลตอบรับในเกณฑ์ที่ดีมากจากหน่วยสถาบันฯที่เดินทางมาเข้าร่วม เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมานั้น แต่ละสถาบันได้มีการทำตลาดในช่องทางของตนเอง โดยอาจจะยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก ซึ่งเมื่อโครงการนี้ได้ถูกพัฒนาขึ้น สถาบันจำนวนมากจึงได้มีการตอบตกลงเข้าร่วมด้วยความเชื่อมั่นในการยางแห่งประเทศไทย และ บริษัท เลย์เท็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัดและบริษัทในเครือ ซึ่งเป็นภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญในการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนอนยางพารามาอย่างยาวนาน ว่าจะสามารถขยายช่องทางการทำตลาดไปได้อย่างแพร่หลายมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ
และยังได้มีการจัดทำสัญญาความร่วมมือการผลิตหมอนและที่นอนยางพาราภายใต้แบรนด์กลาง กยท. ซึ่งเกิดมาจากความร่วมมือจาก 3 ภาคส่วนดังกล่าว โดยคาดว่าภายในปี61 จะเริ่มต้นผลิตหมอนยางพาราคุณภาพเยี่ยมออกสู่ตลาดได้ราว 200,000 ใบ สร้างมูลค่าทางการตลาดรวม 100 ล้านบาท
นายสุนันท์ กล่าวต่อว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากเพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ที่มีความพร้อมในการผลิตเข้ามาร่วมในโครงการดังกล่าวแล้ว ยังเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากยางพารา ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นในการจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งยังพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมหมอนและเครื่องนอนยางพารารวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆจากยางพาราอย่างครบวงจร โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยแต่ละภาคส่วนมีหน้าที่รับผิดชอบในส่วนต่างๆ โดย หน่วยธุรกิจ BU กยท. ได้มีการดูแล สนับสนุน ส่งเสริม ให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางร่วมมือกันผลักดันให้มีการดำเนินการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์แห่งข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ รวมถึงพัฒนาสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์จากยางพาราตามมาตรฐานระดับสากล เพื่อเพิ่มมูลค่ายางพาราและผลิตภัณฑ์จากยางพาราให้กับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ โดยใช้เป็นผลิตภัณฑ์ยางพาราในการจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศ
นายประเสริฐ จรัญฤทธิกุล ผู้แทนจากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง กล่าวว่า สำหรับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางนั้นมีหน้าที่หลักในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากยางพาราให้เป็นไปตามมาตรฐานระดับสากล โดยในการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ จะถือเป็นการเปิดโอกาสให้สถาบันเกษตรกรที่มีความสามารถ ได้แสดงศักยภาพของแต่ละสถาบัน ในการผลิตผลิตภัณฑ์ยางพารา เพื่อแสดงให้ผู้ใช้ยาง และตลาดเห็นถึงกำลังการผลิตที่มากขึ้น
นายณัฐพัฒน์ นิธิอุทัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เลย์เทกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทในเครือ ซึ่งเป็นตัวแทนจากภาคเอกชนกล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมเป็นอย่างยิ่งในการสนับสนุนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางให้ได้มูลค่าเพิ่มในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ สนับสนุนด้านการตลาด และปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์จากยางพาราให้เป็นไปตามมาตรฐานระดับสากล เพื่อเพิ่มมูลค่ายางพาราและผลิตภัณฑ์จากยางพาราให้กับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ ด้วยความเชี่ยวชาญจากการดำเนินธุรกิจแปรรูปยางพารามากว่า 40 ปี และได้มีการปูช่องทางการทำตลาดอย่างเข้มแข็งไว้แล้วในหลายประเทศทั่วโลก
"การจับมือกันระหว่าง 3 ภาคส่วนในครั้งนี้ จะเป็นเหมือนการติดปีกทางธุรกิจยางพาราให้กับเรา การบูรณาการร่วมกันทั้ง 3 ภาคส่วน จะเป็นการเพิ่มศักยภาพในการผลิตที่สูงขึ้น โดยมีสถาบันเกษตรกรที่มีความสามารถในการผลิต มาร่วมกัน และทาง กยท. กับภาคเอกชน จะเจาะตลาดโดยมุ่งเน้นความต้องการของตลาดทั้งในหน่วยงานรัฐและภาคเอกชน ถือเป็นการใส่เกียร์เดินหน้าธุรกิจ เพื่อสร้างรายได้ และเสถียรภาพอย่างยั่งยืน และมั่นคง" นายสุนันท์ กล่าวทิ้งท้าย