พลตรี สมศักดิ์ สมรักษ์ หัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือน ส่วนงานการรักษาความสงบเรียบร้อย สำนักเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุ ทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 3 มกราคม 2561
ซึ่งเป็นวันที่หกของการรณรงค์ "ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร" เกิดอุบัติเหตุ 400 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 51 ราย ผู้บาดเจ็บ 431 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 40.25 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 28.50 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 79.76 รถปิคอัพ 8.19 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 63.25 บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 43.75 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 32.25 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 32.00 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,003 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 65,112 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 811,773 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 140,714 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 42,131 ราย ไม่มีใบขับขี่ 38,210 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี และสงขลา (15 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ สุพรรณบุรี บุรีรัมย์ นครราชสีมา และนนทบุรี (3 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (17 คน) สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 6 วัน (28 ธ.ค.60 – 2 ม.ค.61) เกิดอุบัติเหตุรวม 3,456 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 375 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 3,612 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 8 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี (120 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา (15 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี (124 คน)
พลตรี สมศักดิ์ สมรักษ์ กล่าวอีกว่า ประชาชนบางส่วนยังคงอยู่ระหว่างการเดินทางกลับจากภูมิลำเนาและท่องเที่ยว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงได้สั่งการให้ ศปถ. ประสานจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนตลอดเส้นทางอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจัดเตรียมรถโดยสารสาธารณะให้เพียงพอ ทั้งในพื้นที่ต่างจังหวัด และกรุงเทพมหานคร อีกทั้งดำเนินมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ตามหลักปฏิบัติ "4 ห้าม 2 ต้อง" ได้แก่ ห้ามเร็ว ห้ามเมา ห้ามโทร ห้ามง่วง...ต้องสวมหมวกนิรภัย และต้องคาดเข็มขัดนิรภัย ตลอดจนตรวจสอบรถให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานก่อนเดินทาง และการประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ เพื่อป้องกันการง่วงหลับใน รวมถึงดำเนินการแก้ไขปัญหาและปิดจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ อาทิ ตั้งกรวยริมไหล่ทาง ปิดจุดกลับรถ นอกจากนี้ ให้จังหวัด ถอดบทเรียนการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2561 เพื่อวางมาตรการและกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา ที่สอดคล้องกับสถานการณ์อุบัติเหตุ ครอบคลุมทั้งการดำเนินงานในช่วงปกติ และช่วงเทศกาลสำคัญ ควบคู่กับการรณรงค์สร้างจิตสำนึกและ ความรับผิดชอบในการใช้รถใช้ถนน เพื่อเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในสังคมไทยอย่างยั่งยืน
นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มงานภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้เน้นย้ำให้จังหวัดจัดประชุมศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด เพื่อสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2561 พร้อมทั้งเร่งตรวจสอบข้อมูลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน เพื่อให้ได้ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุ ทางถนนที่ถูกต้องและเป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมถึงวิเคราะห์สาเหตุหลักการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ถอดบทเรียนการดำเนินงานป้องกันและ ลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ เพื่อค้นหาสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุที่จะนำไปสู่การกำหนดมาตรการและกลยุทธ์ในการสร้างความปลอดภัยทางถนนให้สอดคล้องกับสถานการณ์และรูปแบบการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่ที่ครอบคลุมทั้งในช่วงปกติและช่วงเทศกาลสำคัญ
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 รวม 6 วัน (28 ธ.ค.60 – 3 ม.ค.61) พบว่า จำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บ ลดลงเมื่อเทียบจากปีที่แล้ว เนื่องจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการดำเนินการป้องกันและ ลดอุบัติเหตุทางถนน อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ยังคงเกิดจากการดื่มแล้วขับ และขับรถเร็ว ศปถ.จะเร่งผลักดันการขับเคลื่อน การลดอุบัติเหตุทางถนนในระยะยาวอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง รวมถึงบูรณาการฐานข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนให้เป็นระบบทั้งการจัดเก็บ ติดตาม และประเมินผลที่ครบวงจร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือน้อยที่สุดและสร้างการสัญจรที่ปลอดภัย ตามมาตรฐานสากล