รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ประชุมหารือแนวทางการเสนอกฎหมายจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนที่มีทุนดำเนินงานเกิน 5,000 ล้านบาท เตรียมเปิดประชาพิจารณ์เดือนก.พ.นี้ ก่อนเสนอร่างกฎหมายให้ที่ประชุมครม.พิจารณาภายในเดือนมี.ค.61

05 Jan 2018
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประชุมหารือแนวทางการเสนอกฎหมายจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน ร่วมกับผู้แทนของกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมในการประชุมดังกล่าว ซึ่งสำหรับการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการจัดทำร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการกำกับกิจการสหกรณ์การเงินขนาดใหญ่ พ.ศ.... เพื่อรองรับการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นมากำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน ภายใต้ชื่อ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการสหกรณ์การเงินขนาดใหญ่ โดยมีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐ และมีฐานะเป็นนิติบุคคล

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณารายละเอียดของร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับดังกล่าว สาระสำคัญ คือ การกำหนดขอบเขตการบังคับใช้ ซึ่งในเบื้องต้นจะกำกับดูแลสหกรณ์ที่มีสินทรัพย์เกิน 5,000 ล้านบาทขึ้นไป ปัจจุบันมีจำนวน 134 แห่ง ส่วนโครงสร้างการกำกับดูแล จะมีคณะกรรมการกำกับกิจการสหกรณ์การเงินขนาดใหญ่ ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ด้านการกำกับ การส่งเสริมและพัฒนา พร้อมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ เงื่อนไขและแนวปฏิบัติในการกำกับสหกรณ์การเงินขนาดใหญ่ และกำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนคุ้มครองเงินฝากสหกรณ์ภายใต้พระราชบัญญัติฉบับนี้ด้วย เพื่อเป็นการเสริมสร้างเสถียรภาพของระบบสหกรณ์และระบบการเงินของประเทศให้มั่นคงมากขึ้น

"เรื่องสหกรณ์เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง ปัจจุบันสหกรณ์ออมทรัพย์มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จึงต้องหาวิธีการกำกับดูแลที่เหมาะสม ซึ่งจากการหารือกับตัวแทนสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่ มีความเห็นตรงกันในเรื่องการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นมากำกับซึ่งจะช่วยผลักดันให้ระบบสหกรณ์เดินหน้าต่อไปได้และ เข้าใจความเป็นสหกรณ์อย่างแท้จริง รวมถึงต้องการให้มีการประกันเงินฝากของสหกรณ์ และต้องการอยู่กับกระทรวงเกษตรฯเหมือนเดิม เพราะเป็นหน่วยงานที่เข้าใจความเป็นสหกรณ์ ซึ่งมีความเชื่อมั่นว่าคำตอบในการพัฒนาพี่น้องประชาชนอยู่ที่สหกรณ์ ถ้ามีสหกรณ์ที่เข้มแข็ง ประชาชนก็จะเข้มแข็ง และถ้ามีสหกรณ์ขนาดใหญ่ที่เข้มแข็ง สหกรณ์ขนาดใหญ่ก็จะเป็นพี่เลี้ยงกับสหกรณ์ขนาดเล็ก และทำหน้าที่เป็นหัวขบวนที่เข้มแข็ง ในการสร้างสิ่งใหม่ๆ สร้างแนวคิดใหม่ๆ เมื่อสหกรณ์ขนาดใหญ่สามารถเดินหน้าไปได้ สหกรณ์ขนาดเล็กก็เดินตามรอย และจะมีพี่เลี้ยงที่เข้าใจและช่วยเหลือกัน และอยู่ภายใต้องค์กรกำกับที่เข้าใจสหกรณ์ ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาและเกิดความสำเร็จได้ในที่สุด " นายกอบศักดิ์ กล่าว

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความเห็นในรายละเอียดของร่างพรบ. ฯ ก่อนปรับปรุงเนื้อหาให้มีความสอดคล้องกัน จากนั้นจะนำร่างพรบ. ที่ปรับปรุงเสร็จสิ้นแล้วไปเปิดรับฟังความคิดเห็นจากขบวนการสหกรณ์ ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2561และในช่วงต้น เดือนมีนาคมจะตรวจแก้ไขร่างให้สมบูรณ์ เพื่อจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบได้ภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ ก่อนจะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาตามขั้นตอน และจะออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเพื่อบังคับใช้ต่อไป"