ไอดีซีประเทศไทยคาดการณ์ว่าการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันของทั้งองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนที่เข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ นั้นจะเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไปในอนาคต
องค์กรที่จะสามารถแข่งขัน และ เติบโตได้ในเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน (Digital Transformation Economy) จะต้องปรับเปลี่ยนตนเองให้กลายเป็นองค์กรดิจิทัลโดยสมบูรณ์ (Digital Native Enterprise) เพื่อเพิ่มความสามารถในการสร้างสรรค์และใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม จนนำไปสู่การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้ในที่สุด
จาริตร์ สิทธุ ผู้บริหารประจำไอดีซีประเทศไทยระบุว่า "การก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันของประเทศไทย ทำให้การลงทุนด้านไอทีของเราสามารถเติบโตขึ้นไปแตะที่ระดับ 4.4 แสนล้านบาทได้ในปีนี้ และมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อเนื่องไปสู่ระดับ 4.7 แสนล้านบาทได้ภายในปี 2564"
"เรากำลังเห็นหลายต่อหลายองค์กรในประเทศไทยปรับตัวเพื่อสร้าง และเพิ่มความสามารถด้านดิจิทัล โดยเปลี่ยนแปลงทั้งวิธีการทำงาน พัฒนาสินค้าและบริการใหม่ ตลอดจนเปลี่ยนแปลงวิธีการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า เพื่อก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในเศรษฐกิจดิจิทัล"
สุเดฟ บังกาห์ ประธานบริหารประจำภูมิภาคอาเซียนของไอดีซีกล่าวเสริมว่า "องค์กรในประเทศไทยจำเป็นต้องยกระดับการทรานส์ฟอร์มและการสร้างนวัตกรรมขึ้นไปอีก เพราะการแข่งขันที่จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ เราเชื่อว่าจะมีองค์กรจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่ยกดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันให้เป็นส่วนสำคัญที่สุดของกลยุทธ์องค์กร เพื่อที่จะไม่พลาดโอกาสในการเติบโต"
การคาดการณ์ของไอดีซีนั้นมุ่งเน้นไปที่การใช้งานเทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่ 3 ทั้งคลาวด์ โมบิลิตี้ บิ๊กดาต้า และโซเชียล ประกอบกับการใช้งานเทคโนโลยีตัวเร่งนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็น เออาร์/วีอาร์ ระบบคอมพิวเตอร์เสมือนมนุษย์ ระบบซีเคียวริตี้ยุคใหม่ อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (ไอโอที) การพิมพ์ 3 มิติ และระบบหุ่นยนต์
โดยจาริตร์และทีมนักวิเคราะห์ของไอดีซีประเทศไทย ได้เปิดเผยการคาดการณ์ 10 แนวโน้มที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป ดังนี้
#1: แพลตฟอร์มดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน: [ภายในปี 2563] 20% ขององค์กรขนาดใหญ่ของไทยจะมีการกำหนดกลยุทธ์การสร้าง "แพลตฟอร์มดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน" ที่ชัดเจน และ จะเริ่มดำเนินการติดตั้งแพลตฟอร์มนี้เพื่อเป็นเครื่องมือหลักในการแข่งขันในเศรษฐกิจดิจิทัล
#2: การเปิดเอพีไอ: [ภายในปี 2564] มากกว่าหนึ่งในสามของ 500 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดของไทยจะพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วหนึ่งในสามของการใช้งานบริการดิจิทัลของตน จะผ่านระบบเอพีไอแบบเปิด โดยเพิ่มขึ้นจากแทบ 0% ในปี 2560 ซึ่งทำให้สามารถขยายบริการดิจิทัลให้ไปได้ไกลกว่าแค่เฉพาะลูกค้าของตนเท่านั้น
#3: ธุรกิจดิจิทัล: [ภายในปี 2561] 30% ของผู้บริหารด้านไอทีจะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า การสร้างรายได้จากดาต้า และการสร้างธุรกิจดิจิทัล โดยถือว่าเป็นวาระสำคัญขององค์กร
#4: คลาวด์ 2.0 จะกระจายตัวและเฉพาะทางมากขึ้น: [ภายในปี 2564] การลงทุนขององค์กรในบริการคลาวด์ และฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และบริการที่ใช้งานผ่านคลาวด์ จะเพิ่มจนสูงกว่า 4.8 หมื่นล้านบาท โดยจะใช้งานระบบคลาวด์ที่หลากหลายขึ้น ซึ่งจะอยู่ที่ "เอดจ์" 15% จะมีการใช้เครื่องมือคอมพิวต์เฉพาะทาง (ไม่ใช่ X86) กว่า 10% และจะมีการใช้งานมัลติคลาวด์กว่า 30%
#5: ความเสี่ยงและการสร้างความเชื่อมั่น: [ภายในปี 2561] 30% ของผู้บริหารด้านไอทีจะหันกลับมาสนใจการตรวจสอบผู้ใช้งานระบบและการสร้างความเชื่อมั่นในระบบไอที เพื่อบริหารความเสี่ยงต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้ระบบไซเบอร์ซิเคียวริตี้เดิมที่ไม่สามารถปกป้องดาต้าได้นั้นถูกปลดระวางไป
#6: บุคลากรที่มีความสามารถด้านดิจิทัล: [ภายในปี 2563] 25% ของตำแหน่งงานด้านเทคนิคที่เปิดใหม่ จะต้องการผู้สมัครที่มีทักษะการวิเคราะห์และเอไอ เพื่อช่วยองค์กรให้ดำเนินโครงการทรานส์ฟอร์เมชันที่เกี่ยวข้องกับดาต้าได้ โดยไม่จำเป็นต้องว่าจ้างบุคลากรด้านดาต้าโดยเฉพาะ
#7: ผู้ช่วยดิจิทัล: [ภายในปี 2562] ผู้ช่วยดิจิทัลและบอทจะมีส่วนเกี่ยวข้องเพียงแค่ 3% ของธุรกรรมทั้งหมด แต่จะช่วยสร้าง 10% ของยอดขาย ซึ่งจะช่วยผลักดันให้องค์กรที่ใช้งานเทคโนโลยีนี้ให้เติบโตได้
#8: 5G และ โมบายล์ไอโอที: [ภายในปี 2564] บริการ 5G จะช่วยผลักดันการใช้งานอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ และจะกระตุ้นให้ 50% ของ 500 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดของไทยลงทุนในโซลูชันด้านการจัดการการเชื่อมต่อเป็นมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท
#9: ไอโอทีซิเคียวริตี้ภายในบ้าน: [ภายในปี 2563] กว่า 22% ของโซลูชันไอโอทีภายในบ้านที่ติดตั้งด้วยตนเองจะถูกเจาะระบบ แต่จะมีเพียง 12% ของโซลูชันไอโอทีภายในบ้านที่ติดตั้งโดยผู้ให้บริการเท่านั้นที่จะถูกเจาะระบบ
#10: การชำระเงินผ่านโมบายล์: [ภายในปี 2563] อุปกรณ์เคลื่อนที่จะกลายเป็นเทอร์มินัลรับชำระเงินโดยพฤตินัยในประเทศไทยและในหมู่ผู้ประกอบการขนาดย่อมที่เกิดใหม่ โดยการใช้งานนี้จะผลักดันให้รายได้ของผู้ประกอบการขนาดย่อมเติบโตขึ้น 10%
สำหรับคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการคาดการณ์ของไอดีซี กรุณาติดต่อจาริตร์ สิทธุ ที่ [email protected] และสำหรับสื่อมวลชน กรุณาติดต่อศศิธร แซ่เอี๊ยว ที่ [email protected]
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit