สิ่งสำคัญก็คือ ไม่ว่าเทคโนโลยี ความคิด การสื่อสาร หรือสิ่งแวดล้อมจะเป็นตัวหมุนโลกนี้ สิ่งที่เราต้องเผชิญย่อมเป็นคำถามว่า เมื่อวันนี้ไม่เหมือนเมื่อวาน เราจะทำอย่างไรกับโลกแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้
วาจาสิทธิ์ ลอเสรีวานิช ผู้ก่อตั้งบริษัท สยามเอ็นเนียแกรม คอนซัลติ้ง จำกัด และวิทยากรอบรมเอ็นเนียแกรมเล่าให้ฟังว่า การเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่เป็นเรื่องจำเป็นและต้องเร่งดำเนินการทันที โดยเฉพาะผู้บริหารและคนทำงานในองค์กรต่างๆ เพื่อความอยู่รอด แต่ทุกองค์กรต้องแน่ใจว่า การปรับตัวเพื่อเปลี่ยนแปลงนี้ต้อง "ถูกทาง"เพราะการปรับเปลี่ยนที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เท่ากับเป็นความพยายามที่เสียเปล่า
"องค์กรทุกแห่งขับเคลื่อนได้ด้วยบุคลากรในองค์กร ความพยายามเปลี่ยนแปลงองค์กรให้ทันสถานการณ์ จึงควรเริ่มต้นที่บุคลากรทุกคน ไม่ว่าจะเป็นระดับใด และการเริ่มต้นที่ดีที่สุดคือการเริ่มทำความเข้าใจตัวเอง
"จากนั้นจึงขยายความเข้าใจไปถึงผู้อื่น แล้วขยายไปสู่การปรับทัศนคติและพฤติกรรมในการทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรในองค์กรเดียวกันหรือนอกองค์กร" วาจาสิทธิ์กล่าว
วาจาสิทธิ์ ซึ่งศึกษาและทำงานด้าน "เอ็นเนียแกรม" มานานเกือบ 2 ทศวรรษ มั่นใจว่า "เอ็นเนียแกรม" เป็นเครื่องมือทรงประสิทธิภาพที่จะช่วยให้คนเราเข้าใจตัวเองและคนรอบข้างได้ง่ายขึ้น ปัจจุบันทั่วโลกมีการนำเอ็นเนียแกรมมาใช้ในแวดวงต่างๆ เช่น ธุรกิจ การศึกษา จิตบำบัด ศิลปะ บันเทิง การแพทย์ การขายและกฎหมาย เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย มีองค์กรธุรกิจจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ใช้เอ็นเนียแกรมในการฝึกอบรมและปรับเปลี่ยนองค์กร เพราะความรู้เรื่อง "เอ็นเนียแกรม" ทำให้เข้าใจที่มาของพฤติกรรมบุคคลที่แสดงออกในด้านต่างๆเช่น การสื่อสาร การจัดการ ความขัดแย้ง ความเป็นผู้นำ การทำงานเป็นทีม การวางแผนกลยุทธ์ และการปรับปลี่ยนองค์กร
แม้ขณะนี้ยังไม่มีใครรู้ต้นกำเนิดของ "เอ็นเนียแกรม" อย่างแน่ชัด ร่องรอยที่มีอยู่ก็บ่งบอกว่าเป็นภูมิปัญญาจากเอเชียและตะวันออกกลางเมื่อหลายพันปีก่อน แม้คำว่า "เอ็นเนียแกรม" จะมีรากศัพท์มาจากภาษากรีก คือเอ็นเนีย (ennea) ที่แปลว่าเก้า และแกรม (gram) ซึ่งหมายถึงบางสิ่งที่ถูกเขียนหรือวาดขึ้นมา
"เอ็นเนียแกรม" หมายถึงรูปที่มีเก้าจุดบนวงกลม เป็นสัญลักษณ์แทนพฤติกรรมของปัจเจกซึ่งมีลักษณะเป็นแบบแผนที่แตกต่างกันอย่างมาก 9 แบบ เช่น แบบที่ 1 เป็นผู้ที่มีความพยายามทำให้ดีเลิศเสมอ แบบที่ 7 เป็นผู้ที่ต้องการกระตุ้นตัวเองให้มีชีวิตฃีวาเสมอ และแบบที่ 9 เป็นผู้ที่คอยแสวงหาความกลมกลืนเสมอ
วาจาสิทธิ์เล่าว่า ก่อนรู้จัก "เอ็นเนียแกรม" เมื่อปี พ.ศ. 2541 เขารู้ตัวว่าเป็นคนมีบุคลิกแปลกแยก ไม่ค่อยมีคนเข้าใจและแม้แต่ตัวเองก็ไม่ค่อยเข้าใจตัวเอง แต่เมื่อรู้จัก "เอ็นเนียแกรม" เขาเข้าใจตัวเองและอยากเผยแพร่ความรู้ที่เป็นประโยชน์นี้ให้แก่คนอื่นๆ จึงเริ่มอ่านและแปลหนังสือต่อเนื่อง กระทั่งผันตัวเองมาเป็นวิทยากร ทำงานอบรมเผยแพร่การนำ "เอ็นเนียแกรม" ไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพของบุคคลและทีมงานให้กับองค์กรและคณะบุคคลต่างๆในประเทศไทย
"บางคนอาจใช้เวลาทั้งชีวิต เพื่อค้นหาตัวเอง หรือเฝ้าแต่สงสัยพฤติกรรมต่างๆของเพื่อนร่วมงาน เอ็นเนียแกรมเป็นเหมือนสูตรทางลัดให้รู้จักว่าตัวเองเป็นใคร จัดอยู่ในคนกลุ่มใด เพื่อนร่วมงานเราเป็นคนแบบไหน พฤติกรรมที่เขาแสดงออกมาจริงๆแล้วคือตัวตนของเขาหรือไม่ หรือเป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งที่เรามองเห็นทั้งที่ จริงๆแล้วมีฐานรากของปัญหาซ่อนอยู่
"การเข้าใจตัวเองและคนรอบข้างจะนำไปสู่การปรับตัวเข้าหากัน และนำไปสู่การรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงในโลกที่กำลังเกิดขึ้น" วาจาสิทธิ์ กล่าว
วิทยากรเอ็นเนียแกรมเล่าว่าความยากของการอบรม คือ การที่บางคนคิดว่ารู้จักตัวเองดีแล้วจึงไม่ยอมเปิดรับความรู้ใหม่ แต่จากประสบการณ์ของเขาที่จัดอบรมให้แก่หลายองค์กรขนาดใหญ่ มีบุคลากรเข้าร่วมตั้งแต่ระดับผู้บริหารไปจนถึงระดับปฎิบัติการ พบว่าหลายคนเข้าใจตัวเองผิดมาตลอด จนผ่านการอบรมจึงรู้ว่า พื้นฐานพฤติกรรมต่างๆของตนมาจากอะไร และสามารถแก้ไขพฤติกรรมด้านลบที่สาเหตุจริงๆได้ทันที
"ผลที่ตามมาคือ องค์กรจะสามารถบริหารจัดการบุคลากรในองค์กรให้ทำงานได้เหมาะสมกับงานที่ได้รับมอบหมาย เพื่อประสิทธิผลอย่างแท้จริง"
วาจาสิทธิ์มั่นใจว่า การรู้จักฐานรากของพฤติกรรมคนรอบข้าง จะนำไปสู่การลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในองค์กร เช่น หัวหน้างานที่มีบุคลิกภาพแบบ 7 ดูภายนอกเหมือนสนุกสนานไม่จริงจัง อาจทำให้ผู้ปฎิบัติงานบุคลิกภาพแบบอื่นรู้สึกไม่มั่นใจและไม่เชื่อถือ แต่คนบุคลิกภาพแบบ 7 มีข้อดีคือมีความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้น ผู้ปฎิบัติงานก็สามารถปรับตัวเพื่อใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของหัวหน้า และในทางกลับกัน หัวหน้างานก็ต้องระมัดระวังไม่ให้จุดอ่อนกลายเป็นอุปสรรคการทำงานด้วย
เมื่อภายในองค์กร มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน คนทำงานรู้จุดแข็งจุดอ่อนของบุคลิกภาพกันและกัน คนในองค์กรก็สามารถนำความสำเร็จนี้ไปต่อยอดในการทำงานร่วมกับคนนอกองค์กร
วาจาสิทธิ์กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ "เอ็นเนียแกรม" กลายเป็นความจำเป็นในโลกปัจจุบัน คือ การมองสิ่งที่เกิดขึ้นจากฐานรากของเรื่องราวนั้นๆอย่างแท้จริง ซึ่งก็คือพื้นฐานการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่กำลังเกิดขึ้นในโลกนี้
"การปรับตัวของคนและองค์กรที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลก จะทำให้องค์กรนั้นๆ ยืนหยัดอยู่ได้ และยังจะสามารถนำความเปลี่ยนแปลงต่างๆ มาพลิกผันองค์กรให้กลายเป็นองค์กรชั้นนำได้ไม่ยาก" วาจาสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit