พญ.วรรนธนี อภิวัฒนเสวี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศูนย์ตา หู คอ จมูก โรงพยาบาล พระรามเก้า อธิบายว่า อาการเบื้องต้นของโรคนี้ ผู้ป่วยอาจมีหูอื้อข้างเดียว มีเสียงดังในหู คัดแน่นจมูก มีน้ำมูกหรือเสมหะปนเลือด เมื่อโรคมีการกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง ทำให้คลำได้ก้อนที่คอข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ เนื่องจากตำแหน่งของโพรงหลังจมูกอยู่ติดกับฐานสมอง ทำให้โรคสามารถลุกลามเข้าเส้นประสาทสมองหรือเข้าสมอง ทำให้ปวดศีรษะ หน้าชาด้านใดด้านหนึ่ง หรือเกิดการมองเห็นที่ผิดปกติ เช่น มองเห็นภาพซ้อน สำหรับการตรวจวินิจฉัย แพทย์จะเริ่มจากซักประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละเอียดโดยเฉพาะบริเวณโพรงหลังจมูก และหากสงสัยว่ามีความผิดปกติก็จะทำการส่องกล้องทางจมูกเพื่อตัดชิ้นเนื้อไปตรวจอีกครั้ง ในบางรายอาจตรวจเลือดหาสารภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสเอปสไตน์บาร์ สำหรับการตรวจทางรังสีวิทยาเพื่อหาระยะและขอบเขตของโรคนั้นสามารถทำได้ด้วย CT Scan หรือ MRI บริเวณโพรงหลังจมูกและบริเวณลำคอ ตรวจการแพร่กระจายของโรคไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น เอกซเรย์ปอด อัลตราซาวด์ตับและช่องท้อง การกระจายเข้าสู่กระดูกหรือ Bone Scan การรักษามะเร็งหลังโพรงจมูกโดยหลัก คือ การใช้รังสีรักษาซึ่งอาจรวมกับการให้เคมีบำบัดขึ้นอยู่กับระยะการดำเนินโรคของมะเร็ง ส่วนการผ่าตัดมีบทบาทน้อย เนื่องจากตำแหน่งของโรคอยู่ติดกับอวัยวะสำคัญ เช่น เส้นประสาทสมอง เส้นเลือดแดงใหญ่ในสมองและส่วนเนื้อสมอง ทำให้การผ่าตัดก่อให้เกิดอันตรายและความพิการสูงมาก ประกอบกับเซลล์ของมะเร็งส่วนใหญ่จะตอบสนองดีต่อการฉายรังสี ทำให้การผ่าตัดมีบทบาทในกรณีหลังรักษาแล้วแต่ยังคงมีเนื้อมะเร็งเหลือค้างอยู่ มะเร็งหลังโพรงจมูก นับว่าเป็นภัยเงียบที่ซ่อนเร้น แต่หากตรวจพบเร็ว ก็จะรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้น การหมั่นตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ นับว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะสามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยส่งเสริมที่อาจเป็นสาเหตุของ มะเร็งหลังโพรงจมูกรวมถึงการปฏิบัติตัวและดูแลพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร ก็เป็นการป้องกันภัยเงียบจากมะเร็งชนิดนี้ได้เช่นเดียวกัน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit