กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตรในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการควบคุมวัตถุอันตรายทางการเกษตรตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ได้พิจารณาและเร่งดำเนินการเพื่อไขข้อกังวลของสังคม และผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ใช้วัตถุอันตรายในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดย 1) จัดประชุมเพื่อรวบรวมข้อมูลประกอบการพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตราย ทั้ง 3 ชนิด โดยมีนักวิชาการด้านสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เมื่อวันอังคารที่ 25 เมษายน 2560 2) มีหนังสือถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อขอข้อคิดเห็นและข้อมูลเพิ่มเติมของวัตถุอันตราย ในการประกอบการพิจารณากำหนดแนวทางในการควบคุมวัตถุอันตรายดังกล่าว 3) มอบหมายกรมวิชาการเกษตรศึกษาข้อมูลพิษวิทยา ประเมินความเป็นอันตราย และผลกระทบจากการใช้วัตถุอันตราย 4) มอบหมายคณะทำงานพิจารณาสารทดแทนวัตถุอันตราย เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การหาสารที่จะนำมาใช้เป็นสารทางเลือก กรณีที่มีความจำเป็นต้องควบคุมสารทั้ง 3 ชนิด 5) จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในการพิจารณาลด ละ เลิกใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด
ซึ่งล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ครั้งที่ 29-7/2560 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2560 มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาเอกสารทางวิชาการ รวมทั้งกำหนดมาตรการควบคุมวัตถุอันตรายพาราควอตไดคลอร์ไรด์ คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยกำหนดให้พิจารณาแล้วเสร็จ ภายใน 3 เดือน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ขอความอนุเคราะห์กระทรวงสาธารณสุข ในส่วนของข้อมูลหลักฐานทางการแพทย์เกี่ยวกับข้อกังวลในด้านความเป็นอันตรายของวัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด ต่อสุขภาพของมนุษย์ตามข้อเสนอของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง และข้อเสนอแนะของกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่กระทรวงเกษตรฯ จะได้ส่งข้อมูลดังกล่าวเสนอคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจใช้ประกอบการพิจารณากำหนดมาตรการควบคุมวัตถุอันตรายพาราควอตไดคลอร์ไรด์ คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซตต่อไป
ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรฯ ได้พิจารณาข้อมูลทางวิชาการ และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ของวัตถุอันตราย ทั้ง 3 ชนิด พบว่า ข้อมูลพิษวิทยา พิษตกค้าง และประสิทธิภาพของวัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด มีความเป็นพิษในระดับน้อยถึงปานกลาง และยังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชตามฉลาก ซึ่งมีบางประเทศที่ห้ามใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด แต่อีกหลายประเทศมิได้ห้ามใช้ หรือห้ามใช้ในสินค้าบางชนิดเท่านั้น นอกจากนี้ ผลสรุปจากการรับฟังความคิดเห็น 4 ครั้ง มีทั้งเห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมการฯ และไม่เห็นด้วย เนื่องจากวัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด มีประสิทธิภาพดี ราคาถูก หากใช้ด้วยความระมัดระวังจะไม่เกิดอันตราย เกษตรกรจะได้รับผลกระทบด้านต้นทุนการผลิต นอกจากจะมีสารที่มาใช้ทดแทนที่มีประสิทธิภาพดีและราคาถูก ก็ยินดีที่จะลด ละ เลิกใช้ ซึ่งได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการต่อไป