กนอ. เตรียมหาพื้นที่อีก 1.6 หมื่นไร่รับดีมานด์การลงทุน อีอีซี ดันงบกว่า 1.3 หมื่นล. ตอกหมุดนิคมฯ สมาร์ทปาร์ค - ท่าเรือฯ มาบตาพุด เฟส 3

11 Jan 2018
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดแผนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม มาบตาพุดภายใต้งบประมาณกว่า 13,000 ล้านบาท เพื่อจัดตั้ง 2 โครงการใหญ่ ได้แก่ โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Smart Park บนพื้นที่ 1,500.97 ไร่ สำหรับรองรับอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต เช่น อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานสะอาดในกระบวนการผลิตและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 บนพื้นที่อีก 1,000 ไร่ ที่จะช่วยรองรับขยายการนำเข้าวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นสูง การขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ LNG ที่จะเพิ่มได้มากขึ้นอีก 20 ล้านตันต่อปี นอกจากนี้ ยังได้เตรียมพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุนภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี เพื่อจัดสรรพื้นที่เพิ่มเติมสำหรับสร้างนิคมฯ ใหม่อีกประมาณ 16,000 ไร่ อีกด้วย
กนอ. เตรียมหาพื้นที่อีก 1.6 หมื่นไร่รับดีมานด์การลงทุน อีอีซี  ดันงบกว่า 1.3 หมื่นล. ตอกหมุดนิคมฯ สมาร์ทปาร์ค - ท่าเรือฯ มาบตาพุด เฟส 3

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจรายละเอียด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถนนนิคมมักกะสัน กรุงเทพฯ โทร. 0 2253 0561 หรืออีเมล [email protected]

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรม มาบตาพุด เป็นหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญและศักยภาพสูงลำดับต้นๆ ของพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี โดยเป็นทั้งฐานการผลิตอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่อันดับที่ 5 ของเอเชีย และอันดับ 1 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งยังมีความสำคัญต่อการพัฒนาในด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี อุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับระบบดิจิทัล ต่อเนื่องไปถึงการเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งกนอ. พบว่า ในปี 2561 แนวโน้มการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว นักลงทุนยังคงให้ความสนใจทั้งในการลงทุนและการขยายธุรกิจในระดับที่น่าพอใจ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ รวมทั้งอุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง

ดังนั้น ในปี 2561 นี้ กนอ.จึงได้เตรียมการลงทุนในพื้นที่นิคมฯ ดังกล่าวด้วยการจัดสรรงบประมาณกว่า 13,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนา 2 โครงการใหญ่ ได้แก่ โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Smart Park ในเขตธุรกิจอุตสาหกรรมของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง บนพื้นที่ 1,500.97 ไร่ งบประมาณการลงทุน 2,097 ล้านบาท เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคตตามเป้าหมายของรัฐบาล เช่น อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานสะอาดในกระบวนการผลิตและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับในปัจจุบันโครงการฯ อยู่ในขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility Study) และออกแบบโครงสร้างพื้นฐานเบื้องต้น (Conceptual Design) พร้อมทั้งการจัดทำร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการฯ (EIA) คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2563

ส่วนอีกหนึ่งโครงการคือโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ซึ่ง กนอ.ได้เตรียมการพัฒนาพื้นที่รองรับท่าเทียบเรือไว้ประมาณ 1,000 ไร่ เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการก๊าซธรรมชาติ (LNG) ที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการนำเข้าประมาณ 16 – 32 ล้านตัน/ปีในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า พร้อมทั้งรองรับการขยายตัวด้านการขนส่งสินค้าเหลวและก๊าซธรรมชาติที่เป็นวัตถุดิบสำคัญของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่นิคมฯ มาบตาพุดและบริเวณใกล้เคียง เบื้องต้นจะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 11,000 ล้านบาท และพร้อมที่จะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาท่าเทียบเรือได้ในปี 2561 โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 และเมื่อท่าเรือฯ เปิดดำเนินการแล้วจะสามารถรองรับการขนถ่ายสินค้าได้เพิ่มมากอีกประมาณ 20 ล้านตันต่อปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพการให้บริการของท่าเรืออุตสาหกรรม มาบตาพุดที่มีคุณภาพและเชื่อมโยงการขนส่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ

นายวีรพงศ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในปี 2561 กนอ.มีพื้นที่ที่พร้อมรองรับการลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกไว้แล้วประมาณ 24,000ไร่ พร้อมทั้งเตรียมแผนการสรรหาพื้นที่เพิ่มเติมสำหรับสร้างนิคมฯ ใหม่อีกประมาณ 16,000 ไร่ นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะสรรหาพื้นที่เพื่อการจัดตั้งสวนอุตสาหกรรม เขตอุตสาหกรรม และอื่นๆอีกประมาณ 10,000 ไร่ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยรองรับความต้องการของนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในระดับต่างๆ ในพื้นที่ดังกล่าวทั้งในปีนี้และปีอื่นได้อย่างเหมาะสม

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจรายละเอียด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถนนนิคมมักกะสัน กรุงเทพฯ โทร. 0 2253 0561 หรืออีเมล [email protected]

HTML::image( HTML::image( HTML::image(