นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2561 จะขยายตัวใกล้เคียงกับปีที่แล้ว โดยคาดว่าจีดีพีจะเติบโตประมาณ 4% ภาคธุรกิจก่อสร้างจะได้รับอานิสงส์จากโครงการลงทุนของภาครัฐที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินรวมประมาณ 1 ล้านล้านบาท ด้านภาคการส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 4.5% จากแรงหนุนภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ขณะเดียวกันภาคธุรกิจท่องเที่ยวคาดว่าจะขยายตัวสูงขึ้น 6.5-7.5% เนื่องจากประเทศไทยยังคงได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีน
อย่างไรก็ตาม ด้วยแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคที่มุ่งสู่ช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้โซเชียลมีเดียและเทคโนโลยีจะมีความสำคัญในการทำธุรกิจมากขึ้น ทำให้เอสเอ็มอีจำเป็นต้องปรับตัว 3 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาช่องทางการขายให้ผสมผสานมากขึ้น (Omni-Channel) การนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ และการวางกลยุทธ์หลังการขายที่สร้างความประทับใจให้ลูกค้า
ด้วยบริบททางเศรษฐกิจและทิศทางการปรับตัวของธุรกิจลูกค้าผู้ประกอบการ ในปี 2561 นี้ ธนาคารกสิกรไทยจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ "ธนาคารเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอี" ตอกย้ำความเป็นผู้นำในตลาดนี้อย่างต่อเนื่อง ด้วยกลยุทธ์ 4 ด้าน ได้แก่
1. การให้บริการทางการเงินที่ครบวงจร (Financial Solution) ประกอบด้วย
1.1 การพิจารณาสินเชื่อด้วยการบริหารห่วงโซ่ทางธุรกิจ (K-Value Chain Solution) ในปี 2560 ธนาคารมีลูกค้าที่เป็นเครือข่ายธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลางรวมกว่า 2,200 กลุ่ม โดยเฉพาะใน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจอุปโภคบริโภค กลุ่มฮาร์ดแวร์และอะไหล่ กลุ่มน้ำมันและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจากการดูแลลูกค้าแบบครบวงจรทั้งด้านการเงินและองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ในการทำธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ส่งผลให้มียอดอนุมัติสินเชื่อใหม่ในปี 2560 รวม18,000 ล้านบาท ซึ่งในปี 2561 ธนาคารยังคงเดินหน้ากลยุทธ์การปล่อยสินเชื่อด้วยการบริหารห่วงโซ่ทางธุรกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนคู่ค้าในเครือข่ายธุรกิจของผู้ประกอบการให้ได้รับเงินทุนเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
1.2 บริการเพื่อธุรกิจแฟรนไชส์แบบครบวงจร (K-Franchise Solution) ธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารแห่งแรกที่เริ่มทำสินเชื่อแฟรนไชส์ เพื่อสนับสนุนการเริ่มต้นธุรกิจ โดยลูกค้าไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ ในปัจจุบันธุรกิจแฟรนไชส์เป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมในการเริ่มต้นธุรกิจ ธนาคารจึงจัดงาน KBank Franchise Expo 2018 ในวันที่ 9-10 ก.พ.นี้ ณ ชั้น 5 BCC Hall เซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าว เพื่อสนับสนุนผู้สนใจทำธุรกิจแฟรนไชส์กับ 50 แบรนด์ดัง พร้อมทั้งสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการขยายธุรกิจด้วยรูปแบบแฟรนไชส์เพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด
2. นวัตกรรมการเงินดิจิทัลแบงกิ้ง (Digital Banking) ธนาคารมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมการเงินดิจิทัล แบงกิ้งที่สนับสนุนการทำธุรกรรมของเอสเอ็มอีเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ด้วยบริการ K PLUS SHOP แอปพลิเคชันสำหรับร้านค้า รับชำระเงินด้วย QR Code ไม่ต้องบอกเลขที่บัญชีและไม่ต้องมีเงินทอน ร้านค้ารับจ่ายเงินคล่องตัว โดยในปัจจุบันมีร้านค้าใช้บริการแล้ว 710,000 ร้าน ทำรายการผ่าน K PLUS SHOP จำนวน 1,300,000 รายการ คิดเป็นเงิน 829ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงการตอบรับที่ดีของคนไทยในการเข้าสู่สังคมไร้เงินสดและบริการ KBank Mini EDC เครื่องรับจ่ายเงินที่ช่วยเพิ่มศักยภาพการขายของร้านค้าขนาดเล็กด้วยฟังก์ชันชำระเงินแบบ All in One ที่รองรับการใช้งานผ่านบัตรเดบิต บัตรเครดิต QR code ของโมบายแบงกิ้ง ทุกธนาคารในประเทศ รวมทั้ง Alipayกับ WeChat Pay อีกด้วย
3. การใช้ Data Analytic เทคโนโลยีวิเคราะห์สินเชื่อ (Data Analytic Lending) ในปี 2560 ที่ผ่านมา ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์และประมวลผลธุรกรรมทางการเงินของผู้ประกอบการทั้งขารับและขาจ่าย ทำให้เข้าใจและรู้ความต้องการสินเชื่อและนำเสนอวงเงินได้ตรงใจลูกค้ามากยิ่งขึ้น จนอนุมัติสินเชื่อใหม่ได้กว่า 22,000 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้ ธนาคารจะขยายการใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลในการพิจารณาสินเชื่อต่อไป เพื่อนำเสนอสินเชื่อให้กับลูกค้าที่มีความต้องการได้อย่างตรงใจ โดยไม่ต้องรอให้ลูกค้ายื่นขอ
4. การให้บริการที่มากกว่าด้านการเงิน (Beyond Banking)
4.1 จัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายและส่งเสริมความรู้ให้ผู้ประกอบการ ด้วยโครงการ K SME Care ที่ดำเนินการมาแล้ว 23 รุ่น มีสมาชิกเครือข่ายกว่า13,600 ราย เกิดการจับคู่ธุรกิจมูลค่ากว่า 1,500 ล้านบาทต่อปี และในปี 2561 ธนาคารจะเปิดรุ่นที่ 24 ภายใต้แนวคิด ดิจิทัล เรโวลูชั่น มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการสามารถใช้ Digital Marketing Tools ได้ และเพิ่มช่องทางการขายด้วยเทคโนโลยีใหม่
4.2 จัดโครงการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้นวัตกรรมทำธุรกิจ ภายใต้แนวคิด "เสริมสร้างนวัตกรรมต่อยอดผู้ประกอบการ" เพื่อตอบโจทย์ให้กับผู้ประกอบการ 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจผลิตอาหาร ธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจฮาร์ดแวร์ ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ให้ได้รับองค์ความรู้เชิงลึกในการพัฒนาธุรกิจ ได้รับคำปรึกษาในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมแบบตัวต่อตัว และได้รับเงินทุนสนับสนุนในการทำวิจัยและนวัตกรรม
4.3 เฟ้นหาฟินเทคและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อต่อยอดบริการที่มากกว่าบริการด้านการเงิน ให้เป็นเครื่องมือเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการได้ทั้งในลักษณะของการนำเสนอคู่กับผลิตภัณฑ์ของธนาคาร ไปจนถึงการเชื่อมต่อกันระหว่างระบบของฟินเทคกับระบบของธนาคาร โดยในปี 2560ธนาคารกสิกรไทยได้นำเสนอบริการที่เป็น Beyond Banking ได้แก่ Food Solution แพ็คเกจเพื่อการจัดการร้านอาหารที่ครบวงจร ตอบสนองทั้งบริการหน้าร้านและบริการจัดการบัญชีหลังร้านได้อย่างลงตัว และในปีนี้จะเดินหน้าขยายการให้บริการในลักษณะนี้ไปยังกลุ่มธุรกิจค้าปลีกและอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจให้กับผู้ประกอบการอย่างครบวงจร
นายสุรัตน์ กล่าวตอนท้ายว่า ธนาคารกสิกรไทยมีการทำตลาดกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีมาอย่างต่อเนื่อง และมีฐานข้อมูลลูกค้าขนาดใหญ่และครอบคลุมหลากหลายกลุ่มธุรกิจจึงช่วยให้ธนาคารสามารถวิเคราะห์และเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้ตรงจุดจึงเชื่อมั่นว่ากลยุทธ์ที่วางไว้จะตอบสนองธุรกิจของผู้ประกอบการได้ทั้งในด้านการเงินและการใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการธุรกิจและการแข่งขัน
ทั้งนี้ ในปี 2560 ธนาคารกสิกรไทยมียอดสินเชื่อเอสเอ็มอี 698,000 ล้านบาท ขยายตัวจากปี 2559 ที่ 6% สำหรับปี 2561 ตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้น 4-6% และครองส่วนแบ่งทางการตลาดอันดับหนึ่งที่ 28.5% สำหรับเอ็นพีแอลของกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีเริ่มลดลงตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่อง และการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลน่าจะเริ่มส่งผลดีถึงกลุ่มเอสเอ็มอีในบางกลุ่ม
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit