สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ยื่นหนังสือและรายชื่อเกษตรกร 30,000 รายลงชื่อคัดค้านการยกเลิกการใช้สารเคมี “พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส” ต่อรองนายกรัฐมนตรี

26 Jan 2018
สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย สมาคมผู้ส่งออกฯ และผู้แทนเกษตรกร ยื่นหนังสือและรายชื่อเกษตรกร 30,000 ราย ร่วม "ค้าน" ยกเลิกการใช้สารเคมี พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ทางการเกษตร ถึง พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมบทสรุปการประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั่วประเทศ ย้ำ เกษตรกรส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วย เหตุ ส่งผลต้นทุนการผลิตเพิ่ม ผลผลิตลดลง รายได้ประเทศสูญหาย และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญยืนยันไม่ก่อปัญหาด้านสุขภาพ
สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ยื่นหนังสือและรายชื่อเกษตรกร 30,000 รายลงชื่อคัดค้านการยกเลิกการใช้สารเคมี “พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส” ต่อรองนายกรัฐมนตรี

25 มกราคม พ.ศ. 2561 ณ ทำเนียบรัฐบาล - สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย สมาคมผู้ส่งออกทุเรียนและมังคุด สมาคมส่งเสริมธุรกิจ พืชและอาหารสัตว์ และผู้แทนเกษตรกรกลุ่มพืชอ้อย ปาล์ม ยางพารา มะนาว ข้าวโพด ข้าวโพดหวาน มันสำปะหลัง ผักและผลไม้ เป็นผู้แทนกลุ่มเกษตรกรที่ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกข้อเสนอการใช้สารเคมีดังกล่าว นำเสนอรายชื่อคัดค้านจำนวนกว่า 30,000 ราย มอบให้ พลเอก ประสาท สุขเกษตร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง พร้อมด้วยสรุปข้อคิดเห็นของเกษตรกร สมาคมเกษตรกร และนักวิชาการ รวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจหากยกเลิกใช้สารดังกล่าว

ตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอให้ยกเลิกใช้สารทั้ง 3 ชนิด และอยู่ระหว่างการพิจารณาของ คณะกรรมการวัตถุอันตราย นั้น นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริงมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดส่งหนังสือทบทวนไปยังส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะกรรมการวัตถุอันตราย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข และได้เข้าพบ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ ซึ่งได้มอบหมายให้ พลเอก ประสาท สุขเกษตร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นผู้รับผิดชอบ โดยได้ข้อสรุปดังนี้ ขอรับเรื่องไว้และจะนำส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ซึ่งข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขให้มีการยกเลิกใช้งานนั้น ยังไม่มีการสรุป และการดำเนินงานต่อไปจะให้ครอบคลุมเหมาะสมตามข้อเท็จจริง ในส่วนอำนาจการตัดสินใจนั้นอยู่ที่คณะกรรมการวัตถุฯ ซึ่งจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคมนี้

"ทั้งนี้ สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ได้ยื่นเรื่อง ขอให้ "ยกเลิก" ข้อเสนอที่ให้ยกเลิกใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช พารา ควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ของเกษตรกร "นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ กล่าว

นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตร สมาคมเกษตรกร เกษตรกร และนักวิชาการ ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ พบว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ "ไม่เห็นด้วย" กับการยกเลิกการใช้สาร พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พาราควอต เนื่องจากส่งผลกระทบต่อ 1) ต้นทุนการผลิตของเกษตรกร 2) ผลผลิตการเกษตรลดลง 3) การสูญเสียรายได้ระดับประเทศ อันเนื่องมาจากผลผลิตที่ลดลง คิดเป็นมูลค่าการสูญเสียสูงถึง 3 แสนล้านบาทต่อปี สำหรับกลุ่มอ้อยและมันสำปะหลัง

"ขณะเดียวกัน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญของศูนย์พิษวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลยืนยันว่า การใช้สารกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิด ไม่พบว่ามีหลักฐานว่าส่งผลกระทบทางสุขภาพตามที่กล่าวอ้าง ซึ่งสอดคล้องกับประสบการณ์ตรงของเกษตรกรที่ใช้สารดังกล่าว มานานกว่า 50 ปี ไร้ผลกระทบต่อสุขภาพท้ายที่สุด เกษตรกรสนับสนุนให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินหน้าต่อไปบนความถูกต้องและความชอบธรรมภายใต้การกำกับดูแลสารเคมีเกษตร ซึ่งกระทรวงอื่นจะมาก้าวก่ายไม่ได้ ทุกกระทรวงมีหน้าที่ของตนเอง ที่สำคัญคือต้องทำงานร่วมกัน เกษตรกรคือประชาชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ดังนั้น อย่ามองแต่มุมของตัวเอง ภาครัฐด้วยกันต้องทำงานประสานกัน" เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวสรุป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย นายสุกรรณ์ สังข์วรรณ

โทรศัพท์ 02-907-0154-6

โทรสาร 02-578-4919

เลขที่ 99 หมู่ 12 ซอยคงเพิ่มพูล ถนนรามอินทรา 14 แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230