ในยุคที่ดอกเบี้ยตลาดอยู่ในระดับต่ำทำให้การฝากเงินในธนาคารไม่น่าดึงดูดอีกต่อไป นักลงทุนจึงมองหาสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าเงินฝากและยอมรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนในกองทุนรวม โดยพบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กองทุนรวมให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ -22% ถึง +18% ในขณะที่ผลตอบแทนของเงินฝากประจำอยู่ที่ 1.34%-2.73% เท่านั้น
กองทุนรวมจึงดูเป็นการลงทุนที่น่าสนใจกว่าการฝากเงินในธนาคารมาก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ขนาดกองทุนรวมเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่าปีละ 17% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในเวลาอันรวดเร็ว จาก 2 ล้านล้านบาทเป็น 4.6 ล้านล้านบาท
นอกจากนี้ หากพิจารณาด้านความเสี่ยง นักลงทุนอาจมองว่ากองทุนรวม โดยเฉพาะกองทุนรวมตราสารหนี้ (Fixed Income funds) ซึ่งมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิคิดเป็นกว่า 50% ของกองทุนรวมทั้งหมด (2.7 ล้านล้านบาท) มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ โดยความเสี่ยงที่ผู้กู้จะไม่สามารถจ่ายเงินคืนแก่นักลงทุน (Credit risk) และความเสี่ยงที่นักลงทุนจะไม่สามารถขายหน่วยลงทุนคืนได้เมื่อต้องการในราคาที่เหมาะสม (Liquidity risk) นั้นมีโอกาสเป็นไปได้น้อย เนื่องจากส่วนใหญ่ลงทุนในสินทรัพย์ที่เป็นพันธบัตรรัฐบาล อีกทั้งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยในตลาดที่อยู่ในระดับต่ำและไม่ผันผวนมาก ทำให้การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ "ดูเหมือน" จะมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาที่เกิดจากดอกเบี้ยที่เปลี่ยนไป (Interest rate risk) อยู่ในระดับต่ำเช่นเดียวกัน
นักลงทุนจึงอาจมองว่ากองทุนรวมสามารถทดแทนการฝากเงินในธนาคารได้ และปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินบางส่วนที่นักลงทุนจะนำไปฝากธนาคาร ถูกนำไปลงทุนในกองทุนรวมเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่มากกว่าแทน ซึ่งในช่วงที่สภาพคล่องยังล้นตลาดจากมาตรการซื้อสินทรัพย์ (คิวอี) ของธนาคารกลางหลัก อย่าง ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางญี่ปุ่น เช่นตอนนี้ การระดมเงินฝากโดยธนาคารพาณิชย์ควบคู่ไปกับการเติบโตของกองทุนรวมจึงไม่ได้เป็นเรื่องยากสำหรับธนาคารพาณิชย์นัก
อย่างไรก็ดี ในอนาคต สภาพคล่องที่หายไปจากการที่ธนาคารกลางใหญ่หลายแห่งตัดสินใจลดคิวอี อาจทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเลือกระหว่างการระดมเงินฝากเพื่อปล่อยกู้ในภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดีและความต้องการสินเชื่อคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น กับการขายกองทุนรวมเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ธนาคาร ซึ่งรายได้ดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์อาจจะต้องปรับกลยุทธ์เพื่อที่จะอยู่รอดในยุคที่สภาพคล่องไม่ได้เฟ้ออีกต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit