นาย ศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงบทวิเคราะห์ประมาณการณ์เศรษฐกิจโลก PwC's Global Economy Watch ฉบับล่าสุดว่า ในปี 2561 คาดว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกที่คำนวณตามหลักความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ (Purchasing power parities หรือ PPPs) จะเติบโต 3.7% ใกล้เคียงกับการเติบโตของปีก่อนหน้า โดยมูลค่าผลผลิตโลกจะเพิ่มขึ้นอีก 5 ล้านล้านดอลลาร์จากมูลค่าปัจจุบัน โดยแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย และกลุ่มประเทศยูโรโซน ซึ่งคาดจะมีสัดส่วนรวมกันสูงถึงเกือบ 70% ของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ เปรียบเทียบกับสัดส่วนเฉลี่ยที่ราว 60% ในช่วงหลังปี 2453
นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าในปี 2561 เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนจะเติบโตมากกว่า 2% ซึ่ง PwC คาดว่า เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนรอบนอกจะเติบโตเร็วกว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนหลัก ต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 5 (ที่ 2.5% และ 2% ตามลำดับ) เมื่อพิจารณากลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของยูโรโซนพบว่า เนเธอร์แลนด์จะเป็นผู้นำการเติบโตในปีนี้ซึ่งคาดว่า เศรษฐกิจจะเติบโตราว 2.5% ต่างจากเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรที่ยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนหลังจากแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ทำให้คาดว่า ปีนี้เศรษฐกิจจะเติบโตได้เพียง 1.4%
นาย บาร์เรท คูเพเรียน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส บริษัท PwC ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า "ในปี 2561 เราคาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกจะเติบโตในอัตราที่รวดเร็วสุดในรอบ 7 ปีนับตั้งแต่ปี 2554 โดยได้รับแรงขับเคลื่อนหลักจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กลุ่มประเทศยูโรโซน และตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย แต่อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ธุรกิจทั่วโลกต้องติดตามในหลายๆ ประเด็น ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการเจรจาต่อรองเรื่องการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป การจัดการเลือกตั้งในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นบราซิล เม็กซิโก อิตาลี เกาหลีใต้ รวมไปถึง การเลือกตั้งกลางสมัย (Midterm Elections) ของสหรัฐฯ และแนวโน้มการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมบางกลุ่ม"
ทั้งนี้ PwC ยังได้คาดการณ์แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกตามหลักพีพีพี โดยคาดจะเติบโตราว 6-7% ในปีนี้ ถือเป็นอัตราการเติบโตที่ช้าลงกว่าปีก่อน นอกจากนี้ ยังมี 17 ประเทศทั่วโลกที่คาดว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะสูงกว่าจีน เช่น อินเดีย กานา เอธิโอเปีย และ ฟิลิปปินส์ เป็นต้น สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของทวีปแอฟริกาและเอเชียโดยรวม โดยบทวิเคราะห์ของ PwC ยังคาดว่า 8 ใน 10 ของประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในปีนี้จะอยู่ในทวีปแอฟริกา
PwC ยังได้คาดการณ์ว่า ความต้องการใช้พลังงานของโลกในปีนี้จะสูงถึงเกือบ 600,000 ล้านล้านบีทียู (British Thermal Units: BTUs) เพิ่มขึ้นเท่าตัวนับจากปี 2523 และสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยคาดว่า จีนและอินเดียจะมีความต้องการใช้พลังงานคิดเป็น 30% ของความต้องการทั้งโลก แต่แม้แนวโน้มความต้องการจะเพิ่มสูงขึ้น PwC ยังคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันปีนี้จะยังทรงตัวหลังจากที่กลุ่มเอเปกและพันธมิตรได้ขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวันไปจนถึงสิ้นปี 2561นอกจากนี้ บทวิเคราะห์ยังให้ติดตามปัจจัยสำคัญอื่นๆ ที่น่าจับตาในปีนี้ ได้แก่
• ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจปรับลดปริมาณการจัดซื้อสินทรัพย์รายเดือนลงในปีนี้ โดยหากอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนกลับมาฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ ก็อาจเห็นอีซีบียกเลิกโครงการเข้าซื้อสินทรัพย์ในปีนี้ด้วยเช่นกัน สำหรับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินอย่างรวดเร็วในญี่ปุ่นเชื่อว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น
• อัตราการว่างงานในกลุ่มประเทศ G7 ปีนี้คาดว่า จะต่ำสุดในรอบ 40 ปีที่ราว 5% หรือคิดเป็นประมาณ 19 ล้านคน ขณะเดียวกันคาดว่า ปีนี้อัตราค่าจ้างในประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศจะปรับขึ้นเล็กน้อย ตามขีดความสามารถคงเหลือที่จำกัด แต่ก็ยังเป็นระดับที่ต่ำกว่าก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ
• จำนวนประชากรทั่วโลกในปีนี้จะเพิ่มขึ้นประมาณ 80 ล้านคน ซึ่งถือเป็นอัตราการเพิ่มที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 2493 นอกจากนี้ PwC ยังคาดว่า จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะอยู่ในทวีปแอฟริกาหรือเอเชีย โดยในการเพิ่มขึ้นของประชากรทุกๆ 10 คน คาดว่าจะมี 9 คนที่เป็นประชากรที่อาศัยอยู่ใน 2 ทวีปดังกล่าว
ด้านนาย ศิระ กล่าวทิ้งท้ายว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้คาดว่า จะมีอัตราการเติบโตประมาณ 3.5-4% โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออก ซึ่งขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศหลักเช่น สหรัฐฯ และการลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเร่งลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่จะเห็นความคืบหน้าชัดเจนในปีนี้ และน่าจะช่วยกระตุ้นให้การลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคภายในประเทศเริ่มกลับมาฟื้นตัวด้วยเช่นเดียวกัน
สำหรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในปี 2561 นั้น มองว่า ผู้ประกอบการควรให้ความสนใจในการศึกษาและนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ในการประกอบธุรกิจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง หรือไอโอที ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ เทคโนโลยีทางการเงิน หรือฟินเทค เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล เพราะต่อจากนี้เทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมาก หากไม่เร่งศึกษาและปรับตัวอาจจะเสียเปรียบคู่แข่ง โดยในปีนี้เราจะเริ่มให้เทรนด์การนำโปรแกรมอัตโนมัติ หรือบอท เทคโนโลยีบล็อกเชน เข้ามาใช้ในบ้านเราชัดเจนมากขึ้น
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit